นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า กรมได้ส่งทีมนักวิชาการลงพื้นที่บริหารจัดการมูลฝอยติดเชื้อและมูลฝอยทั่วไปที่โรงพยาบาลบุษราคัม อาคารชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี รองรับการ รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการสีเหลือง กำหนดจุดทิ้งขยะติดเชื้อทั้งโซนสีแดงและสีเขียวพร้อมติดป้ายสัญลักษณ์ให้เห็นชัดเจน จัดหาภาชนะรองรับขยะเพิ่มเติม 165 ถัง เฝ้าระวังคุณภาพน้ำเสีย กำหนดจุดตรวจสอบคุณภาพน้ำทิ้ง ตรวจคลอรีนอิสระคงเหลือในน้ำเสีย ตลอดจนประสานขอความอนุเคราะห์จากองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี เพื่อทำการสูบสิ่งปฏิกูลก่อนเปิดให้บริการโรงพยาบาลสนาม และนำไปบำบัดอย่างถูกวิธี โดยกำหนดให้สูบสิ่งปฏิกูลเป็นระยะตามความเหมาะสม

นพ.สุวรรณชัยกล่าวด้วยว่า สำหรับโรงพยาบาลสนามแต่ละพื้นที่ขอให้ยึดแนวทางปฏิบัติการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม 3 ด้าน ดังนี้ 1.การจัดการมูลฝอยติดเชื้อ ผู้ปฏิบัติงานสวมชุดป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่เหมาะสม จัดให้มีภาชนะบรรจุและภาชนะรองรับมูลฝอยติดเชื้อในห้องผู้ป่วย มีการเก็บขยะมูลฝอยตามเวลานัดหมาย โดยใช้รถเข็นในการเก็บรวบรวมและเคลื่อนย้ายตามเส้นทางที่กำหนดและเมื่อเสร็จภารกิจแล้วให้ถอดอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลออก หากเป็นชนิดใส่ครั้งเดียวให้ทิ้งลงในถังมูลฝอยติดเชื้อ หากนำกลับมาใช้ซ้ำได้ให้แช่ลงใน 5,000 ppm sodium hypochlorite นาน 30 นาที

จากนั้นล้างแล้วนำไปผึ่งแดด 2.การกำจัดน้ำเสีย ผู้ปฏิบัติงานสวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน ปฏิบัติงานและหลีกเลี่ยงการสัมผัสละอองฝอยจากระบบบำบัดน้ำเสีย ตรวจสอบและควบคุมระบบบำบัดน้ำเสีย และระบบฆ่าเชื้อโรคให้ทำงานอย่างต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง ตรวจวัดปริมาณคลอรีนอิสระคงเหลือในน้ำทิ้งทุกวัน วันละ 1 ครั้ง และให้มีการส่งตรวจคุณภาพน้ำทิ้งอย่างน้อย 1 ครั้งต่อเดือน หลังปฏิบัติงานให้ทำความสะอาดและใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคทุกครั้ง และ 3.การจัดการส้วมและสิ่งปฏิกูล ให้ทำความสะอาดห้องน้ำ ห้องส้วม ด้วยน้ำยาทำความสะอาดทั่วไป ทิ้งไว้อย่างน้อย 10 นาที เน้นเช็ดบริเวณที่รองนั่งโถส้วม ฝาปิดโถส้วม ที่กดชักโครก ราวจับลูกบิด กลอนประตู ด้วยผ้าชุบน้ำยาฟอกขาวที่เตรียมไว้หรือแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ หรือไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 0.5 เปอร์เซ็นต์ และต้องสวมถุงมือยาง รองเท้ายาง ผ้ากันเปื้อน ผ้าปิดจมูก เพื่อป้องกันเชื้อโรคหรือสารเคมีที่ใช้ในการทำความสะอาด.

...