ตามที่คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร ได้มีมติเมื่อ 8 เม.ย. 2564 เห็นชอบกำหนดให้มาตรฐาน GAP สำหรับฟาร์มสุกรฉบับทบทวน เป็นมาตรฐานใช้บังคับกับฟาร์มสุกร โดยมีขอบข่ายการบังคับใช้แบ่งเป็น 2 ระยะ ตามขนาดการเลี้ยงสุกร
ฟาร์มที่มีสุกรขุนตั้งแต่ 1,500 ตัวขึ้นไป หรือมีสุกรแม่พันธุ์ตั้งแต่ 120 ตัวขึ้นไป ให้ระยะเวลาปรับเปลี่ยน 90 วัน หลังประกาศราชกิจจานุเบกษา
ฟาร์มที่มีสุกรขุนตั้งแต่ 500-1,499 ตัว หรือมีสุกรแม่พันธุ์ตั้งแต่ 95-119 ตัว ให้ระยะเวลาปรับเปลี่ยน 180 วัน หลังประกาศราชกิจจาฯ
แต่กระนั้นมาตรฐาน GAP สำหรับฟาร์มสุกรฉบับใหม่นี้ยังอยู่ในขั้นตอนให้สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อนำผลการแสดงความคิดเห็นนั้นเสนอคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร เพื่อประกอบการพิจารณา ก่อนที่จะประกาศบังคับใช้ในราชกิจจาฯ
...
น.สพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า เพื่อเตรียม ความพร้อมให้แก่เกษตรกรฟาร์มสุกร ที่ผ่านมากรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานเดียวที่ให้บริการรับรองมาตรฐานฟาร์มสุกร GAP โดยไม่มีค่าใช้จ่ายมาตั้งแต่ปี 2542 ล่าสุดมียอดการรับรอง GAP ทุกขนาดฟาร์ม 4,768 ฟาร์ม ในจำนวนนี้มี 4,531 ฟาร์ม ที่เข้าเกณฑ์มาตรฐานบังคับใหม่ จากจำนวนฟาร์มสุกรทั้งหมดที่จะต้องเข้าสู่มาตรฐานบังคับรวม 7,314 ฟาร์ม
“สำหรับมาตรฐานบังคับใหม่หากฟาร์มสุกรที่ได้รับรอง GAP อยู่ก่อนแล้วจะไม่กระทบเพราะไม่ต่างจากเดิมมากนัก แต่ยังมีอีก 2,783 ฟาร์มที่ยังไม่ได้รับการรับรอง GAP หากมีผลบังคับใช้จะเกิดปัญหาตามมาได้หากมีการฝ่าผืนไม่มีใบอนุญาตระวางโทษปรับตั้งแต่ 300,000 บาท ไปจนถึง 500,000 บาท กรมปศุสัตว์จึงขอเชิญชวนให้เกษตรกรฟาร์มสุกรที่มีสุกรขุนตั้งแต่ 500 ตัวขึ้นไป หรือมีสุกรแม่พันธุ์ ตั้งแต่ 95 ตัวขึ้นไป ได้เตรียมความพร้อมการเข้าสู่ GAP ไว้ ซึ่งสามารถขอคำแนะนำได้จากเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทั้งระดับอำเภอ จังหวัดหรือเขต โดยกรมปศุสัตว์ให้บริการฟรีตั้งแต่การอบรมให้ความรู้ GAP แก่เกษตรกร หรือการตรวจรับรอง GAP ให้แก่ฟาร์มฟรี”
อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวอีกว่า การทำตามหลักมาตรฐานใหม่ตามหลักมาตรฐาน GAP 7 ข้อ คือ องค์ประกอบฟาร์ม การจัดการฟาร์ม บุคลากร สุขภาพสัตว์ สวัสดิภาพสัตว์ สิ่งแวดล้อม การบันทึกข้อมูลถือเป็นสิ่งที่ให้ผลดีในยุค New normal เพราะช่วยให้มีระบบการป้องกันโรคที่เข้มแข็งขึ้นรับมือกับภาวะโรคระบาดสำคัญๆที่อาจมาจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น โรคอหิวาต์แอฟริกันสุกร (ASF) ซึ่งส่งผลร้ายแรงต่อฟาร์มหากเกิดปัญหาขึ้น การจัดการที่ดีขึ้นของ GAP ยังช่วยแก้ปัญหาเข็มคงค้างหรือลดอัตราการเกิดฝีหนองลง รวมทั้งปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม การร้องเรียนจากชุมชน
“อีกทั้งการอยู่ในระบบ GAP ยังได้รับสิทธิพิเศษจากกรมปศุสัตว์ในการบริการเฝ้าระวังโรค การเคลื่อนย้ายสุกร การทำฟาร์มปลอดโรค FMD การลดค่าใช้จ่ายในการตรวจห้องแล็บ ทั้งยังยกระดับทางการตลาดในประเทศได้กับโครงการ “ปศุสัตว์ OK” หรือเนื้อสุกรอนามัย Q และการต่อยอดการส่งออกทั้งสุกรมีชีวิตและผลิตภัณฑ์สุกรไปยังต่างประเทศ การทำ GAP จึงเป็นผลดีต่อฟาร์มสุกรของท่านทั้งสิ้น เกษตรกรที่สนใจขอรับรอง GAP ได้ฟรีที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอหรือจังหวัดที่ตั้งฟาร์มของท่าน หรือสอบถามข้อมูลได้ที่สำนักงานปศุสัตว์เขตหรือสำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ 0-2653-4444 ต่อ 3158” น.สพ.สรวิศ กล่าวเชิญชวนเกษตรกรเจ้าของฟาร์มสุกรที่อยู่ในข่ายต้องปรับตัว เพื่อรับมาตรฐานใหม่ ที่จะสร้างมิติใหม่ให้กับอุตสาหกรรมหมูไทยที่จะเกิดขึ้นเร็วๆนี้.
...
ชาติชาย ศิริพัฒน์