กรมวิชาการเกษตร เตรียมเสนอกระทรวงเกษตรฯ ออกประกาศขึ้นทะเบียนสารชีวภัณฑ์ หนุนเกษตรกรนำมาใช้ป้องกันกำจัดศัตรูพืชแทนสารเคมี

วันที่ 9 พ.ค.64 นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมฯได้เตรียมเสนอกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เรื่องการขึ้นทะเบียนการออกใบสำคัญและการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตรที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบ (ฉบับที่ 2) โดยประกาศฉบับดังกล่าวจะปรับลดขั้นตอนและระยะเวลาการขึ้นทะเบียนสารชีวภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์จากพืช และสารฟีโรโมน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรได้นำสารชีวภัณฑ์มาใช้ป้องกันกำจัดศัตรูพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพและทดแทนการใช้สารเคมีให้กว้างขวางมากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามที่ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรฯ ให้เป็นนโยบายเร่งด่วน ที่ต้องการส่งเสริมการลดการใช้สารเคมีในการทำการเกษตร เนื่องจากปัจจุบันพบว่ายังมีการนำสารเคมีมาใช้เพื่อป้องกันกำจัดศัตรูพืชจำนวนมาก ก่อให้เกิดสารตกค้างในพืช และเป็นอันตรายต่อเกษตรกรผู้ใช้ ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้สารชีวภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์จากพืชและสารฟีโรโมน ที่มีข้อมูลทางวิชาการ และเป็นการวิจัยของกรมฯ พบว่ามีความปลอดภัยต่อมนุษย์ พืชสัตว์ และสิ่งแวดล้อม สามารถส่งเสริมให้มีการใช้อย่างกว้างขวางมากขึ้น ตามรายชื่อที่กรมวิชาการเกษตรกำหนดโดยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องส่งข้อมูลพิษวิทยามาประกอบการขึ้นทะเบียนมีจำนวนทั้งสิ้น 17 ชนิด โดยเป็นชีวภัณฑ์ที่อยู่ในประกาศเดิม 5ชนิดและเพิ่มในร่างประกาศใหม่อีก 12 ชนิด

“สารชีวภัณฑ์ 17 ชนิด จะลดขั้นตอนและระยะเวลาในการพิสูจน์พิษวิทยา เพื่อที่จะได้มีผลิตภัณฑ์ออกมาจำหน่ายในตลาดเป็นทางเลือกให้เกษตรกรได้เร็วขึ้น และทันต่อฤดูการผลิตปี 2564 ตามนโยบายของ รมช.เกษตรฯ ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวและมอบเป็นนโยบายหลักเร่งด่วนให้กรมวิชาการเกษตรเร่งดำเนินการให้เกษตรกรลด ละ เลิก การใช้สารเคมีโดยปรับเปลี่ยนมาทำการเกษตรที่ปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและของกระทรวงเกษตรฯ” นายพิเชษฐ์กล่าว

...

โดยความคืบหน้าของร่างประกาศฯ ฉบับดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจาก รมว.เกษตรฯ แล้ว ขั้นตอนต่อไปกรมฯ จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และส่งให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณา หากคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติเห็นชอบ รมว.เกษตรฯจะลงนามในประกาศเพื่อลงราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

สำหรับ 17 รายชื่อสารชีวภัณฑ์ตามรายชื่อที่กรมวิชาการเกษตรกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาทั้งสิ้น 17 ชนิด เป็นชีวภัณฑ์ที่อยู่ในประกาศเดิม 5 ชนิด และเพิ่มในร่างประกาศใหม่อีก 12 ชนิด อาทิ 1.บาซิลลัส อะไมโลลิคเฟเชียน (Bacillus amyloliquefaciens) ควบคุมโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา Fusarium, Pythium, Rhizoctonia,Phytophthora, Verticillium, Botrytis cinerea, and Alternaria, โรคราแป้ง, โรคแอนแทรคโนส, โรคราน้ำค้าง, โรคไหม้ข้าวและส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช 2.บิวเวอร์เรีย บัสเซียน่า (Beauveria bassiana) เป็นจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคกับแมลงศัตรูพืชโดยครอบคลุมเข้าทำลายแมลงหลายชนิด ซึ่งเป็นแมลงจำพวกตระกูลเพลี้ย เช่น เพลี้ยกระโดด เพลี้ยจักจั่นเพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยอ่อนส้ม เพลี้ยไก่แจ้ รวมถึงบั่วที่ทำลายช่อและยอดกล้วยไม้ (ค่อนข้างดื้อยาฆ่าแมลง) หนอนทุกชนิด และแมลงที่เป็นศัตรูพืชเช่น มอดเจาะผลกาแฟ ไรแดง ไรขาวแมลงหวี่ขาว ด้วง แมลงวัน และยุง 3.เมทาไรเซียม แอนิโซเพลีย (Metarhizium anisopliae) ชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชจำพวกปากกัดและปากดูด เช่น ไรแดงแอฟริกัน เพลี้ยจักจั่นสีเขียว เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ หนอนด้วง และหนอนของผีเสื้อศัตรูพืชหลายชนิดตลอดจนแมลงปากกัดบางจำพวก เช่น ด้วงกออ้อย ด้วงหมัดผัก ตั๊กแตน หนอนด้วงเจาะลำต้น ด้วงแรด แมลงดำหนาม หนอนหัวดำในมะพร้าวมอดเจาะผลกาแฟ ฯลฯ สามารถใช้ผสมน้ำฉีดพ่นพืชผัก ไม้ผล และไม้ดอกไม้ประดับทุกชนิด และทุกระยะการเจริญเติบโต เป็นต้น.