ม.มหิดล เชิญชวนบริจาคโลหิตช่วยเหลือผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย เยียวยาวิกฤติขาดแคลนเลือด ในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด
วันที่ 6 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 8 พฤษภาคมของทุกปี ตรงกับ "วันธาลัสซีเมียโลก" ขององค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นโรคทางพันธุกรรมที่เป็นปัญหาระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประเทศไทยถือเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องมีการวางแผนยุทธศาสตร์กันโดยเร่งด่วน เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียรายใหม่
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.แพทย์หญิงเดือนธิดา ทรงเดช อาจารย์ประจำสาขาวิชาโลหิตวิทยาและมะเร็งวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เมื่อผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 อาจมีไข้สูง ทำให้เม็ดเลือดแดงแตก และต้องได้รับการถ่ายเลือดก่อนกำหนด
นอกจากนั้น ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียที่ตัดม้ามแล้ว มีธาตุเหล็กสะสมสูงมาก หรือมีโรคประจำตัวอื่นร่วมด้วย เช่น เบาหวาน เส้นเลือดอุดตัน เมื่อติดเชื้อโควิด-19 อาจมีโอกาสติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนมากกว่าคนปกติ ดังนั้น ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียควรดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ด้วยการรับการถ่ายเลือด และรับประทานยาขับเหล็กอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงโอกาสสัมผัสเชื้อโควิด-19 และเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยเร็วที่สุดเมื่อมีโอกาส
ด้วยมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียของโรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ส่วนหนึ่งที่อยู่ต่างจังหวัดเดินทางมาเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลลำบาก จึงมีการแก้ไขปัญหาโดยการติดต่อประสานให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษา ณ สถานพยาบาลใกล้บ้าน รวมทั้งเพิ่มจำนวนการจ่ายยาจาก 1 เดือน เป็น 3 เดือน
...
นอกจากนี้ในการจัดลำดับการเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้มีการนัดหมายผ่านระบบออนไลน์ และนัดให้ผู้ป่วยมาเข้ารับการตรวจรักษาในคราวละจำนวนไม่มาก เพื่อลดความแออัด รวมทั้งยังได้มีการให้ความรู้ป้องกันตัวเองไม่ให้ติดป่วยโควิด-19
ที่ผ่านมา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ร่วมกับ ศูนย์วิจัยธาลัสซีเมีย สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ค้นคว้าหายาที่สามารถเพิ่มการสร้างฮีโมโกลบินเอฟ (Hb F) ซึ่งจะส่งผลให้เม็ดเลือดแดงมีอายุมากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยธาลัสซีเมียมีอาการน้อยลง และต้องถ่ายเลือดน้อยลง รวมถึงการรักษาโรคธาลัสซีเมียให้หายขาดด้วยการตัดต่อยีนที่สามารถทำได้ทั้งกระบวนการในประเทศไทย ซึ่งการค้นคว้ายาชนิดใหม่ และการตัดต่อยีนดังกล่าว ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัย คาดว่าจะพร้อมนำมารักษาผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียได้จริงในอีก 5 ปีข้างหน้า
โดยปกติแล้วผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียจะต้องถ่ายเลือดทุก 3-4 สัปดาห์เป็นประจำ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานว่าเชื้อโควิด-19 สามารถติดต่อทางการถ่ายเลือดได้ อย่างไรก็ตาม พบว่าในช่วงวิกฤติโควิด-19 มีจำนวนผู้บริจาคโลหิตน้อยลง ทำให้เลือดขาดแคลนจนทำให้ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียต้องเลื่อนกำหนดการเข้ารับการถ่ายเลือดออกไป
ทั้งนี้ จึงขอเชิญชวนประชาชนบริจาคโลหิต สำหรับที่ โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ถนนพระราม 6 กรุงเทพฯ สามารถติดต่อบริจาคโลหิต ได้ทั้งที่ ห้องรับบริจาคโลหิต อาคาร 1 ชั้น 2 และที่ ห้องรับบริจาคโลหิต อาคารสมเด็จพระเทพรัตน์ ชั้น 3 ทุกวัน เวลา 08.30-12.00 น. และเวลา 13.00-16.30 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร. 0-2201-1229, 0-2201-1219 (ห้องรับบริจาคโลหิต อาคาร 1 ชั้น 2) และโทร. 0-2200-4208 (ห้องรับบริจาคโลหิต อาคารสมเด็จพระเทพรัตน์ ชั้น 3).