หลังนโยบาย “ฮับแมลงโลก” ของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่า การกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถูกขับเคลื่อนออกไปเมื่อปลายปีที่แล้ว ดูเหมือนจะได้รับความสนใจจากเกษตรกร ทั้งมือเก่ามือใหม่เป็นอย่างมาก
บริษัทสตาร์ตอัพหลายรายถึงกับผันตัวเองมาเป็นผู้แปรรูปจิ้งหรีดทั้งแบบผงและแบบเต็มตัว เพื่อหวังส่งออก ปั้นจิ้งหรีดไทย สู่จิ้งหรีดโลก... ล่าสุดฝันการเป็นฮับแมลงโลก หวังเจาะตลาด 3 หมื่นล้าน เริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เมื่อหลายชาติแสดงความจำนงต้องการนำเข้าจิ้งหรีดจากไทย
โดยเฉพาะเม็กซิโก ที่เปิดตลาดได้อย่างเป็นทางการ โดยไทยสามารถส่งออกได้ทั้งผงแป้งจิ้งหรีด (Cricket flour) จิ้งหรีดปรุงสุก (Cooked cricket) และจิ้งหรีดแช่แข็ง (Frozen cricket) แต่ต้องเป็นจิ้งหรีดสายพันธุ์ Acheta domesticus หรือที่คนไทยเรียก จิ้งหรีดบ้าน หรือสะดิ้ง หรือทองแดงลาย เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จะส่งออกผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดไปเม็กซิโกต้องดำเนินการตามข้อกำหนด ดังนี้ 1.จิ้งหรีดต้องเลี้ยงในฟาร์มที่ได้การรับรอง มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด หรือ มกษ. 8202–2560 เกษตรกรสามารถขอการรับรองได้ที่กรมปศุสัตว์ หรือสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด
2.ผลิตภัณฑ์ต้องมีแหล่งกำเนิดในประเทศไทย 3.โรงงานแปรรูปจะต้องผ่านการตรวจรับรองจากกรมปศุสัตว์ ว่ามีกระบวนการแปรรูปความปลอดภัยต่อการบริโภค สอดคล้องกับกฎระเบียบของเม็กซิโก มีการนำหลักสุขลักษณะที่ดีในการผลิตอาหาร (Good Hygienic practice : GHP) ใช้ตลอดกระบวนการผลิต และมีมาตรการป้องกันผลิตภัณฑ์จากการปนเปื้อนของโปรตีนของสัตว์เคี้ยวเอื้อง หรือจากแมลงชนิดอื่นที่ไม่ใช่จิ้งหรีด
4.ก่อนการส่งออกจะต้องยื่นขอใบรับรองสุขอนามัย (Health certificate) กับกรมปศุสัตว์ เพื่อใช้แสดงประกอบการนำเข้า ณ ด่านนำเข้าของเม็กซิโก และ 5. สินค้าต้องนำเข้าผ่านด่านที่กำหนดเท่านั้น (ด่านนำเข้าสำหรับสินค้าที่เก็บรักษาที่อุณหภูมิปกติจำนวน 16 ด่าน และสินค้าแช่เย็นจำนวน 9 ด่าน)
...
เกษตรกรและผู้ประกอบการสนใจจะส่งออกจิ้งหรีดไปเม็กซิโก สามารถขอการรับรองมาตรฐานฟาร์มและขอใบรับรองสุขอนามัยได้ที่ สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ และสำนักงานปศุสัตว์ จังหวัด กรมปศุสัตว์ สอบถามได้ที่ 0–2561–2277 ต่อ 1307 และ 1326.
สะ–เล–เต