เหตุการณ์ข่าวคราว “คนชอบนอน เล่นโทรศัพท์ สมาร์ทโฟน” เสียบสายชาร์จไฟค้างทิ้งไว้แล้ว “เผลอหลับ” ถูกไฟช็อตแบบไม่รู้ตัว กลายเป็นการสูญเสียปรากฏเป็นอุทาหรณ์เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง

อุบัติเหตุนี้ก็มาจาก “ความประมาทเลินเล่อ” ไม่ทันคิด ไม่ทันระวังต่ออันตรายที่จะเกิดขึ้น ในยุค “โทรศัพท์มือถือ” กลายเป็นปัจจัยในการใช้ชีวิตเสมือนอวัยวะที่ 33 ขาดไม่ได้ สามารถตอบโจทย์ “คนยุคออนไลน์” ในการใช้งานทั้งการโทรด้วยวิดีโอ การส่งข้อความ เล่นเกม ซื้อของ และติดต่อกันได้ง่ายรวดเร็ว

ไม่เท่านั้นในยุค “เทคโนโลยีล้ำสมัย” ยังมีการพัฒนา “ใช้พลังงานไฟฟ้า” เข้ามาแทน “น้ำมันเชื้อเพลิง” ในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ เริ่มมีบทบาท “ในประเทศไทย” มากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ สังเกตจาก “สถานีชาร์จจากภาคเอกชน” เข้ามาลงทุนขยายตาม “หัวเมืองหลัก” ทั้งในห้างสรรพสินค้า คอนโดมิเนียม ออฟฟิศ

เหตุนี้ “การชาร์จไฟ” ต้องมาจากอุปกรณ์ติดตั้งเป็นพิเศษ เพื่อป้องกัน “ไฟช็อต” กลายเป็นประกายไฟได้เสมอ ดร.สุพรรณ ทิพย์ทิพากร หน.ภาควิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล ให้ข้อมูลว่า

ดร.สุพรรณ ทิพย์ทิพากร
ดร.สุพรรณ ทิพย์ทิพากร

...

ประเด็น “การใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV)” กำลังเป็นกระแสการรักษ์โลก ไม่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ มีตัวแทนนำเข้ารถไฟฟ้ามากกว่า 10 แบรนด์ แต่ละค่ายต่างพัฒนาสมรรถนะเกี่ยวกับ “แบตเตอรี่” ให้มีความจุสูงสามารถวิ่งไกลยิ่งขึ้น เบื้องต้นตอนนี้ “รถ EV” มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1 บาทต่อ กม. ถูกกว่าใช้น้ำมันราว 3 เท่าด้วยซ้ำ

ปกติแล้ว “เครื่องชาร์จรถ EV” ติดตั้งตามบ้านเป็นแบบจ่ายไฟกระแสสลับไหลเข้าราว 16A ในการติดตั้งต้องเป็นตามมาตรฐานการไฟฟ้านครหลวง หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่มีอุปกรณ์ตัดไฟรั่ว (RCD) มีระบบดิน แยกออกจากระบบไฟบ้าน ส่วนขนาดตัวนำสายไฟทองแดง เบรกเกอร์ มิเตอร์นี้เหมาะสมตามกิโลวัตต์ใช้งานรถด้วย

ส่วน “หัวชาร์จ” ต้องตาม มอก.2749 เล่ม 2-2559 กำหนดเต้าเสียบ และเต้ารับกระแสสลับเป็น Type 2 หรือหัวชาร์จเฉพาะยี่ห้อ แต่ถ้ามี “การใช้หัวชาร์จพกพา” ต้องเป็นไปตามชาร์จแบบ mode 2 มีมาตรฐาน IEC 62196 ใช้เสียบปลั๊กธรรมดา และสายไฟ และขนาดเบรกเกอร์ต้องรองรับกระแสได้ไม่น้อยกว่าสเปกผู้ผลิตด้วย

มิเช่นนั้นอาจเกิดอันตรายจากการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าก็ได้ ที่เคยมีกรณี “รถหรูเกิดเพลิงไหม้ขณะชาร์จ” และ “ตัวแทนจำหน่าย” อ้างเหตุผลการนำเข้าไม่ผ่านตัวแทน ทำให้การติดตั้งระบบชาร์จอาจไม่ได้มาตรฐาน

ส่วน “สถานีบริการชาร์จ” มักออกแบบติดตั้งตามมาตรฐานสากลอยู่แล้วที่ผ่านการรับรองการทดสอบระบบตัดไฟรั่ว ควบคุมจ่ายไฟ และตัดไฟเกินเข้าแบตเตอรี่ ทำให้มีความปลอดภัย และมั่นใจต่อผู้ใช้บริการอยู่แล้ว

ข้อแนะนำว่า “การใช้รถไฟฟ้า” ไม่ควรปล่อยแบตต่ำกว่า 10% เพื่อป้องกันการเสื่อมอายุใช้งานสั้นลง โดยเฉพาะ “ห้ามใช้ปลั๊กพ่วงเดินสาย” เพราะสเปกปลั๊กพ่วงไม่สามารถรับกระแสสูงจากการชาร์จได้ ตอนนี้ “รถ EV ในไทย” มีค่อนข้างน้อย ในอนาคต 10 ปีข้างหน้านี้มีแนวโน้มสูงขึ้น “ความปลอดภัย” ย่อมมีความสำคัญสูงสุด

ในส่วนปัจจัยอุบัติเหตุ “ชาร์จโทรศัพท์ถูกไฟช็อต ไฟไหม้ หรือระเบิด” ทำให้ “คนบาดเจ็บ” มักเกิดจาก “ปัญหาอุปกรณ์ชาร์จไฟฟ้า” โดยเฉพาะ “หัวเสียบชาร์จไม่มาตรฐาน” ไม่ว่าจะเป็นหัวชาร์จเสื่อมสภาพ ซื้อราคาถูก ไม่มียี่ห้อ แม้ว่าดูจากลักษณะภายนอกคล้ายของแท้ แต่วงจรภายในจะทำด้วยวัสดุอุปกรณ์คุณภาพต่ำมาก

ผลตามมา...“อายุใช้งานแบตเตอรี่น้อยกว่าปกติ” เมื่อนำโทรศัพท์ชาร์จไฟค้างไว้แล้วใช้งานเสียบหูฟัง หรือใช้งานติดต่อกับผู้อื่น มักมีความเสี่ยงไฟฟ้าบ้านขนาด 220 โวลต์รั่วเป็น “อันตราย” ต่อผู้ใช้โทรศัพท์โดยตรงอันเกิดจากการใช้ “หัวชาร์จปลอม” การจ่ายไฟไม่สม่ำเสมอลักษณะคลื่นรบกวนค่อนข้างมาก

สิ่งนี้ไม่ควรใช้กับโทรศัพท์ราคาแพงด้วยซ้ำ เพราะมักทำให้ “วงจรภายในโทรศัพท์เสียหาย” ส่งผลให้แบตเตอรี่ร้อน ที่มีโอกาสเกิดระเบิดได้ง่ายๆ อีกทั้ง “หัวชาร์จไม่มีคุณภาพ” ยังเป็นสาเหตุ “การเกิดเพลิงไหม้” ให้เห็นบ่อยๆ ที่เป็นการชาร์จไฟโทรศัพท์บนเตียง และมีหมอนทับไว้ทำให้เกิดความร้อนสะสมนั่นเอง

...

เปรียบเทียบ “หัวชาร์จมาตรฐาน” มักมีการทดสอบใช้งานไฟฟ้าจ่ายออกมีคุณภาพดีมีความสม่ำเสมอ ทำให้โอกาสเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ค่อนข้างน้อยมากๆ

หากเจาะลึกลงหลักการทำงาน “หัวชาร์จโทรศัพท์” ทำหน้าที่ต้องรับไฟบ้านกระแสสลับ 220 โวลต์ และแปลงการจ่ายเข้าโทรศัพท์เป็นไฟกระแสตรงระดับ 5 โวลต์คงที่ ในส่วนหลัก “ทำการแปลงไฟ” ก็มีขั้นตอนค่อนข้างซับซ้อนในหัวชาร์จเล็กๆ เริ่มจากแปลงไฟบ้านกระแสสลับให้เป็นไฟกระแสตรง โดยใช้ “เร็กติไฟเออร์”

ก่อนแปลงให้เป็นสัญญาณกระแสสลับความถี่สูง และความถี่สูงจะลดจากขนาดหม้อแปลงในหัวชาร์จได้ ในการใช้ “พัลส์ทรานส์ฟอร์มเมอร์” และ “ไดโอด” แปลงสัญญาณกระแสตรง 5 โวลต์

ถ้าเป็น “วงจรภายในของหัวชาร์จเลียนแบบ” มักจะไม่มีคุณสมบัติปรับสัญญาณในแต่ละขั้นตอนให้ดีมีคุณภาพได้ เพราะใช้วัสดุราคาถูก ทำให้การจ่ายกระแสไฟเข้าโทรศัพท์ไม่คงที่สม่ำเสมอ

อย่างเช่น...“โทรศัพท์ค่ายยี่ห้อดัง” มีการใช้หัวชาร์จเลียนแบบ ในวงจรทำด้วย “วัสดุไม่มาตรฐาน” และระหว่างชาร์จถูกวางใต้หมอน ทำให้การระบายความร้อนไม่ดี “เกิดความร้อนสะสม” กลายเป็นเหตุ “โทรศัพท์ระเบิด” อันมาจากการลัดวงจรภายในของแบตเตอรี่ ในการออกแบบแบตเตอรี่อย่างบกพร่องนี้

กรณีเกิดเหตุนี้มีทั้งในประเทศ และต่างประเทศ มักก่อให้เกิดความเสียหาย หรือสูญเสียอยู่บ่อยๆ ดังนั้นประหยัดเงินซื้อหัวชาร์จราคาถูก อาจทำให้ต้องสูญเสียในสิ่งที่มีราคามากกว่าเงินที่จ่ายไปก็ได้

...

ทว่า...“แบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ” เมื่อมีการใช้โทรศัพท์นาน มักมีปัญหาอาการชาร์จไฟไม่เข้า แล้ว “ผู้ใช้” มักเลือก “การใช้แบตไม่ได้มาตรฐาน” เพราะมีราคาถูกกว่าของแท้จากผู้ผลิตมือถือ แต่ราคาถูกนี้ก็มักมี “คุณภาพต่ำ” มีโอกาสเกิดการเสื่อมบวมส่งผลให้ “แผงวงจรร้อนจัดเป็นอันตราย” ได้อยู่เสมอเช่นกัน

ถัดมาคงต้องพูดถึงเรื่อง...“การป้องกันอุบัติเหตุชาร์จโทรศัพท์” มีหลักง่ายๆ ถ้าเลือกจะซื้ออุปกรณ์ของปลอมราคาถูก ก็ต้องยอมรับความเสี่ยงด้วย ที่ต้องมีการเฝ้าระมัดระวังอยู่ใกล้ เช่น ไม่เสียบโทรศัพท์ทิ้งไว้ขณะออกจากบ้านไป หรือไม่ได้มีคนเฝ้าอยู่ใกล้ เพราะ “เสี่ยงต่อแบตระเบิด” ทำให้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นได้

โดยเฉพาะ “ต้องยอมจ่ายเงิน” ซื้ออุปกรณ์มีคุณภาพจาก “บริษัทผู้ผลิต” ที่ได้รับการตรวจสอบทดลองการใช้งานอย่างมาตรฐาน เพื่อป้องกันเหตุการณ์ “สูญเสียทั้งชีวิต หรือทรัพย์สิน” เมื่อเกิดขึ้นมักไม่คุ้มกับเงินที่ประหยัดไม่กี่ร้อยบาท และหมั่นสังเกต “สภาพหัวชาร์จใช้มานาน” มักเสื่อมสภาพอาจก่ออันตรายจากไฟรั่วได้

...

เพราะการชาร์จโทรศัพท์ไปด้วยใช้งานด้วยเป็นการต่อไฟบ้าน 220 โวลต์ ถ้าหากมือเปียกน้ำ และไม่ใส่รองเท้า กระแสไฟบ้านมีโอกาสรั่วเข้าตัวได้เสมอ ถ้าจำเป็นต้องใช้โทรศัพท์ไปด้วยชาร์จไปด้วยควรต่อชาร์จจาก Power Bank ที่มีแรงดันไฟฟ้าน้อยกว่าไฟบ้าน หากเกิดไฟรั่วจาก Power Bank กระแสไฟฟ้าไหลเข้าตัวน้อยกว่าเช่นกัน

ย้ำว่าสิ่งสำคัญ...“อย่ารอแบตเตอรี่ใกล้หมดแล้วชาร์จไฟ” เพราะอาจทำให้อายุการใช้งานของแบตเตอรี่ลิเทียม-ไอออนลดลง เพราะแบตชนิดนี้ไม่มีปัญหา memory อย่างแบตนิเกิล-แคดเมียมสมัยก่อน ควรเหลือสัก 30% แล้วชาร์จ ไม่รอจนใกล้ 0% หรือดับคาเครื่องซึ่งจะลดอายุการใช้งานของแบตอย่างรวดเร็ว

แม้ว่า “โทรศัพท์มือถือสมัยใหม่” มีระบบควบคุมการตัดจ่ายกระแสไฟ แต่การชาร์จไฟไว้ค้างคืน ย่อมส่งผลให้แบตเตอรี่เสื่อมได้เสมอ ดังนั้น “ชาร์จไฟเสร็จ” ต้องดึงหัวชาร์จออกจากปลั๊กไฟทันที เพื่อป้องกันกระแสไฟไหลอยู่ในหัวชาร์จนั้นอีกทาง ที่อาจก่อให้ “เกิดไฟรั่ว หรือเกิดความร้อน” หัวชาร์จหลอมละลายลุกลามเป็นอัคคีภัยขึ้นได้

ด้วยเหตุที่ “ประเทศไทย” ไม่มีรายละเอียดชัดเจน ในกรอบดำเนินการควบคุมเกี่ยวกับ “สายชาร์จ และหัวชาร์จโทรศัพท์” ทำให้มีการปล่อยให้มีการจำหน่ายหัวชาร์จแบตเตอรี่ปลอมเติบโตทั่วในขณะนี้อย่างมาก

ดังนี้แล้วไฟฟ้าแม้มีคุณอนันต์แต่ก็มีโทษมหันต์อยู่เสมอ “เสมือนดาบสองคม” ดังนั้นหมั่นตรวจสอบเอาใจใส่อุปกรณ์ต่างๆให้ดี มิเช่นนั้นอาจก่อให้เกิดโทษและอันตรายร้ายแรงมากมายได้เช่นกัน.