• กฎกระทรวงกำหนดอัตราความเร็วของยานพาหนะบนทางหลวงแผ่นดินหรือทางหลวงชนบท
  • มีผลแล้ว กฎกระทรวงปรับอัตราความเร็วสูงสุดยานพาหนะ
  • คมนาคมไฟเขียววิ่ง 120 กม./ชม. วิ่งเส้นทางไหนได้บ้าง ตามกฎหมายใหม่

มีผลแล้ว!! สำหรับกฎกระทรวงปรับอัตรา "ความเร็ว" รถยนต์บนท้องถนน หลังจากที่ "เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา" ได้เผยแพร่กฎกระทรวงกำหนดอัตราความเร็วของยานพาหนะ บน "ทางหลวงแผ่นดิน" หรือ "ทางหลวงชนบท" ที่กำหนด โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2564 เป็นต้นไป ลงนามโดย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เมื่อวันที่ 4 มี.ค.2564 ที่ผ่านมา

รายละเอียดกฎหมายใหม่ กำหนดความเร็วรถ

ข้อมูลจาก "เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา" ได้เผยแพร่ กฎกระทรวงกำหนดอัตราความเร็วของยานพาหนะบนทางหลวงแผ่นดิน หรือทางหลวงชนบทที่กำหนด พ.ศ. 2564 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 (1) แห่งพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ในกฎกระทรวงนี้ เกาะกลางถนนแบบกำแพง หมายความว่า กำแพงที่ใช้กั้นกลางถนน (Barrier Median)

    • เพื่อใช้แบ่งทางเดินรถในทิศทางตรงข้ามกัน ซึ่งมีลักษณะทางกายภาพที่ชัดเจนและมีความมั่นคงแข็งแรง “เครื่องหมายจราจร” หมายความว่า รูปภาพ ข้อความ ตัวหนังสือ ตัวเลข หมุด หลัก เส้น แถบสี หรือสัญลักษณ์ใดๆ ที่แสดง ติดตั้ง หรือทำให้ปรากฏไว้ในเขตทางหลวง ในลักษณะ และตำแหน่งที่เห็นได้โดยง่ายและชัดเจน เพื่อให้ผู้ขับขี่ คนเดินเท้า หรือคนที่จูง ขี่ หรือไล่ต้อนสัตว์ ปฏิบัติตามเครื่องหมายนั้น หรือเป็นการแจ้งข้อมูล หรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ทางหลวงนั้น “ช่องเดินรถ” หมายความว่า ทางเดินรถที่จัดแบ่งเป็นช่องสำหรับการเดินรถ โดยทำเครื่องหมายเป็นเส้นหรือแนวแบ่งเป็นช่องไว้ 

...

ข้อ 2 กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับแก่ทางหลวงแผ่นดินหรือทางหลวงชนบทที่มีทางเดินรถ 

    • ซึ่งได้แบ่งช่องเดินรถในทิศทางเดียวกันไว้ตั้งแต่สองช่องเดินรถขึ้นไป มีเกาะกลางถนนแบบกำแพงและไม่มีจุดกลับรถเสมอระดับถนน ตามที่ผู้อำนวยการทางหลวงประกาศกำหนด 

ข้อ 3 อัตราความเร็วของยานพาหนะบนทางหลวงแผ่นดินหรือทางหลวงชนบทตามข้อ 2 มีดังต่อไปนี้ 

    1. รถบรรทุกที่มีน้ำหนักรถเกินสองพันสองร้อยกิโลกรัม หรือรถบรรทุกคนโดยสารที่มีที่นั่ง คนโดยสารเกินสิบห้าคน ให้ใช้ความเร็วไม่เกินเก้าสิบกิโลเมตรต่อชั่วโมง
    2. รถขณะที่ลากจูงรถอื่น รถยนต์สี่ล้อเล็ก หรือรถยนต์สามล้อ ให้ใช้ความเร็วไม่เกินหกสิบห้ากิโลเมตรต่อชั่วโมง
    3. รถจักรยานยนต์ ให้ใช้ความเร็วไม่เกินแปดสิบกิโลเมตรต่อชั่วโมง เว้นแต่รถจักรยานยนต์ ที่มีกำลังเครื่องยนต์ตั้งแต่สามสิบห้ากิโลวัตต์ขึ้นไปหรือมีขนาดความจุของกระบอกสูบรวมกันตั้งแต่สี่ร้อยลูกบาศก์เซนติเมตรขึ้นไป ให้ใช้ความเร็วไม่เกินหนึ่งร้อยสิบกิโลเมตรต่อชั่วโมง
    4. รถโรงเรียน หรือรถรับส่งนักเรียน ให้ใช้ความเร็วไม่เกินแปดสิบกิโลเมตรต่อชั่วโมง
    5. รถบรรทุกคนโดยสารที่มีที่นั่งคนโดยสารเกินเจ็ดคนแต่ไม่เกินสิบห้าคน ให้ใช้ความเร็วไม่เกินหนึ่งร้อยกิโลเมตรต่อชั่วโมง
    6. รถแทรกเตอร์ รถบดถนน หรือรถใช้งานเกษตรกรรม ให้ใช้ความเร็วไม่เกินสี่สิบห้ากิโลเมตรต่อชั่วโมง
    7. รถอื่นนอกจาก (1) (2) (3) (4) (5) และ (6) ให้ใช้ความเร็วไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบกิโลเมตรต่อชั่วโมง

ทั้งนี้ หากรถดังกล่าวอยู่ในช่องเดินรถช่องขวาสุด ต้องใช้ความเร็วไม่ต่ำกว่าหนึ่งร้อยกิโลเมตรต่อชั่วโมง เว้นแต่ในกรณีที่ช่องเดินรถนั้นมีข้อจำกัดด้านการจราจรหรือทัศนวิสัย มีสิ่งกีดขวาง หรือมีเหตุขัดข้องอื่น 

ข้อ 4 ในทางเดินรถที่มีเครื่องหมายจราจรแสดงว่าเป็นเขตอันตราย
    •สำหรับเขตอันตรายให้ขับรถช้าๆ ให้ลดความเร็วลงและเพิ่มความระมัดระวังขึ้นตามสมควร 

ข้อ 5 ในกรณีที่ทางเดินรถหรือช่องเดินรถใดมีเครื่องหมายจราจรกำหนดอัตราความเร็วต่ำกว่าอัตราที่กำหนดในข้อ 3 ให้ใช้ความเร็วไม่เกินอัตราความเร็วที่กำหนดไว้

กฎหมายใหม่ ซิ่งเท่าไร ? จึงไม่ให้โดนใบสั่ง

สำหรับข้อกำหนดความเร็วในทางหลวงแผ่นดิน ทางหลวงชนบท ที่มีทางเดินรถแบบจัดแบ่งช่องเดินรถในทิศทางเดียวกันไว้ตั้งแต่ 2 ช่องเดินรถ มีเกาะกลางถนนเฉพาะแบบกำแพงกั้น (Barrier Median) และไม่มีจุดกลับรถเสมอระดับถนน ดังนี้

1. รถบรรทุกที่มีน้ำหนักเกิน 2,200 กก. หรือรถบรรทุกคนโดยสารเกิน 15 คน วิ่งได้ไม่เกิน 90 กม./ชม.
2. รถลากจูง รถสี่ล้อเล็ก หรือรถยนต์สามล้อ วิ่งไม่เกิน 65 กม./ชม.
3. รถจักรยานยนต์ วิ่งไม่เกิน 80 กม./ชม.
4. รถจักรยานยนต์ 400 cc (บิ๊กไบค์) ขึ้นไปวิ่งไม่เกิน 110 กม./ชม.
5. รถโรงเรียน วิ่งไม่เกิน 80 กม./ชม.
5. รถโดยสาร 7-15 คน วิ่งไม่เกิน 100 กม./ชม.
6. รถแทรกเตอร์ รถบดถนน รถใช้งานเกษตรกรรม วิ่งไม่เกิน 45 กม./ชม.
7. รถยนต์ วิ่งไม่เกิน 120 กม./ชม. 
8. รถวิ่งขวาสุด วิ่งไม่ต่ำกว่า 100 กม./ชม.

...

ส่วนในทางเดินรถที่มีเครื่องหมายจราจรแสดงว่าเป็น “เขตอันตราย” หรือ “เขตให้ขับรถช้าๆ” ให้ลดความเร็วลงและเพิ่มความระมัดระวังขึ้นตามสมควร ส่วนทางเดินรถหรือช่องเดินรถใด มีเครื่องหมายจราจรกำหนดอัตราความเร็วต่ำกว่าอัตราที่กำหนดไว้ ให้ใช้ความเร็วไม่เกินอัตราความเร็วที่กำหนดไว้นั้น

เปิด 12 เส้นทาง วิ่งได้ 120 กม./ชม.

เส้นทางแรกที่จะนำร่องกำหนดอัตราความเร็วของรถยนต์เป็นไม่เกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง คือ ทางหลวงหมายเลข 32 (ถนนสายเอเชีย) แบ่งเป็น 2 ระยะ

      • ระยะที่ 1 จ.พระนครศรีอยุธยา-จ.อ่างทอง ระยะทาง 50 กิโลเมตร
      • ระยะที่ 2 จ.อ่างทอง-จ.ชัยนาท ระยะทาง 100 กิโลเมตร

หลังจากกฎกระทรวงบังคับใช้แล้ว ต้องรอกรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ออกประกาศของกรมที่จะประกาศรายชื่อถนน ที่สามารถใช้ความเร็วตามกฎกระทรวงกำหนด ซึ่งทราบเพียงว่า ถนนที่กรมทางหลวงจะนำร่อง คือ

...

      • ทางหลวงสายเอเชียช่วง บางปะอิน-อ่างทอง ส่วนกรมทางหลวงชนบท จะนำร่องที่ ถ.ราชพฤกษ์

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทราบว่าถนนทั้ง 2 เส้นทาง ได้ปรับปรุงสภาพทางให้เป็นไปตามที่กฎกระทรวงกำหนดแล้วเสร็จหรือยัง คาดว่ากลางปีนี้จะเริ่มบังคับใช้ได้และหากย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2563

ด้าน นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวว่า ในส่วนของกรมฯ จะนำร่องที่ถนนราชพฤกษ์ทั้งเส้นทาง ระยะทางประมาณ 50 กม. โดยอยู่ระหว่างปรับปรุงเครื่องหมายจราจร (Traffic Signs) และเพิ่มเครื่องหมาย รวมถึงปรับปรุงสีบนพื้นผิวจราจร (Traffic Marking) อย่างไรก็ตาม หลังจากที่กฎกระทรวงมีผลบังคับใช้แล้ว แต่การบังคับใช้จะต้องรอให้ผู้อำนวยการสำนักทางหลวงแต่ละพื้นที่เป็นผู้ออกประกาศเรื่องพื้นที่ และระยะเวลาที่จะเริ่มบังคับใช้ เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าว จะไม่ได้มีผลบังคับใช้กับถนนทุกสาย

นอกจากนี้ กรมทางหลวง (ทล.) และ กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ยังเสนอเส้นทางเพิ่มเติม ที่เปิดให้รถยนต์วิ่งทำความเร็ว ได้ไม่เกิน 120 กม./ชม. เพิ่มเติมอีก 11 เส้นทาง แยกได้ดังนี้ 

...

"กรมทางหลวง" เสนอ 6 เส้นทาง ระยะทางรวม 150 กม. ได้แก่

1. ทางหลวงหมายเลข 35 ตอนนาโคก-แพรกหนามแดง กม.56+000-65+000 ระยะทาง 9 กม. และ กม. 68+000-80+500 ระยะทาง 12.5 กม. เริ่มได้ภายในสิ้นปี 2564
2. ทางหลวงหมายเลข 32 ช่วงอ่างทอง-ชัยนาท ระยะทาง 63 กม. เริ่มได้ต้นปี 2565
3. ทางหลวงหมายเลข 2 บ่อทอง-มอจะบก ระยะทาง 7.25 กม. เริ่มเทศกาลสงกรานต์ปี 2565
4. ทางหลวงหมายเลข 32 ช่วงชัยนาท-นครสวรรค์ ระยะทาง 37 กม. วิ่งได้ปลายปี 2565
5. ทางหลวงหมายเลข 3147 ช่วงเทคโนโลยีปทุมธานี-ต่างระดับเชียงรากน้อย ระยะทาง 10.35 กม. วิ่งได้ปี 2566 
6. ทางหลวงหมายเลข 4 ช่วงเขาวัง-สระพระ 11.5 กม.เริ่มได้ปลายปี 2566

"กรมทางหลวงชนบท" เสนอ 5 เส้นทาง ที่เปิดให้วิ่งปี 2566 ได้แก่

1. ถนนนครอินทร์ 1020 ระยะทาง 12.40 กม.
2. ถนนราชพฤกษ์ 3021 ระยะทาง 51.70 กม.
3. ถนนวงแหวนเชียงใหม่ทางเลี่ยงเมืองเชียงใหม่ 3029 (ถนนสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี) ระยะทาง 26.11 กม.
4. ทางหลวงชนบทถนนข้าวหลาม จ.ชลบุรี 1073 ระยะทาง 4.98 กม.
5. ทางหลวงชนบท 1035 จ.ระยอง ระยะทาง 7.47 กม.


เรียบเรียงโดย : หงเหมิน

กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun