“ฝุ่นพิษ PM2.5 ทำป่วยแล้วเกือบหมื่น เชียงใหม่อากาศแย่อันดับ 1 ของโลก” นี่คือหนึ่งในข่าวร้อนบาดหัวใจช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พูดถึงเงื่อนปัญหาเรื้อรังเรื่องฝุ่น “PM2.5” ประเด็นสำคัญที่น่าสนใจคือ “ไฟป่า”

ดร.เจน ชาญณรงค์ เป็นหนึ่งในผู้ที่พยายามช่วยแก้ปัญหา “PM 2.5” ในนาม “ชมรมผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล” ซึ่งรวบรวมผู้มีความรู้สาขาต่างๆ มาพยายามหาวิธีแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เพื่อหวังจะเป็นแนวทางที่ช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น เปิดประเด็น

“เมื่อดูจุดความร้อนที่ปรากฏบนแผนที่จะพบว่าพื้นที่เผาไหม้ส่วนใหญ่เกิดในเขตป่า ซึ่งกินบริเวณกว้างและเกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนาน ทางชมรมจึงลงพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ปิงซึ่งเกิดไฟป่าจำนวนมาก และพบว่าการจะแก้ปัญหาได้นั้นต้องทำไปถึงเรื่อง...ปากท้องของชาวบ้าน จึงจะเป็นการแก้ปัญหาระยะยาว”

ดร.เจน ชาญณรงค์
ดร.เจน ชาญณรงค์

...

ดร.เจน เรียนจบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดลไปศึกษาต่อปริญญาโท สาขาวิศวกรรมเครื่องกล และปริญญาเอก สาขาวิศวกรรมการผลิตที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) สหรัฐอเมริกา จากนั้นกลับมาเป็นอาจารย์

แล้ว...หันไปทำงานในอุตสาหกรรมการบิน ปัจจุบันทำงานอยู่ในภาคเอกชน

เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2562 สมเด็จพระเทพฯ ทรงปรารภกับประธานชมรมผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดลว่า...ถึงเวลาที่นักเรียนทุนควรรวมตัวกันแก้ปัญหานี้ให้ประชาชนดู

พวกเราถูกส่งเรียนมา 80 ปี มีผู้จบมาแล้วประมาณ 380 คน ครึ่งหนึ่งเป็นแพทย์ ที่เหลือเป็นนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร สัตวแพทย์ มีความรู้สหสาขา ขณะที่ผมสนใจเรื่องนี้อยู่แล้วเพราะอาชีพเก่าของผมคือการทำสายการบินที่บินใกล้ๆ เช่น เชียงใหม่-ปาย พื้นที่ที่บินก็มีแต่ฝุ่นในฤดูแล้ง ผมต้องอยู่กับสภาพอากาศ

จึงสนใจเรื่องฝุ่น ลม ฟ้า ที่ผ่านมาได้ถ่ายทอดความสนใจนี้ให้ออกมาเป็นข้อมูลที่สื่อสารง่ายในเพจ...ฝ่าฝุ่น โดยเรียกตัวเองว่า “นักเดาฝุ่น” จากการพยากรณ์สถานการณ์ฝุ่นด้วยข้อมูลจากดาวเทียมของนาซาที่ให้บริการผ่าน FIRMS ประกอบกับการดูทิศทางลมซึ่งเป็นข้อมูลที่เข้าถึงได้ทั่วไป

“ปีที่แล้ว...เห็นว่าสังคมอยู่ในภาวะสับสนว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะราชการไปทาง เราไปทาง คำอธิบายก็ไม่มี จึงเห็นว่าสังคมควรรวมตัวทำอะไรสักที สุดท้ายเลยรับเป็นประธานอนุกรรมการศึกษาวิจัยฝุ่น PM 2.5 ให้กับชมรม”

กลุ่มที่รวมตัวกันมีประมาณ 20 คน มีแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ วิศวกร และไม่ใช่เฉพาะคนในชมรม แต่ยังมีเพื่อนๆที่เป็นนักวิชาการ นักประมง นักบริหารทรัพยากรน้ำ ดิน เกษตร ถ้าเรามีโจทย์เฉพาะก็จะติดต่อเขาไป ...รู้สึกว่าต้องตอบแทนประเทศ พร้อมจะทำงานฟรีให้นอกเหนือจากงานประจำ ออกไปแก้ปัญหา

เมื่อปีที่ผ่านมาได้เริ่มระยะที่ 1 ภายใต้โครงการ “PepsiCo Grow More สร้างป่า รักษ์น้ำ” ร่วมใจเพิ่มพื้นที่สีเขียว ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ลดความเสื่อมโทรมของพื้นที่ และลดปัญหาฝุ่น PM2.5 สู่ความยั่งยืน

วางแผนดำเนินงานไว้ 3-5 ปี ผนึกกำลังกับทั้งทางภาครัฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 กลุ่มเกษตรกรชุมชนในพื้นที่ และกำลังสำคัญกลุ่มนักวิชาการจากชมรมในทุกๆเรื่อง

อาทิ ถ่ายทอดองค์ความรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ที่มีการเติมสปอร์เห็ดเผาะให้กับกล้าไม้เพื่อสร้างความสัมพันธ์ของพืชและจุลินทรีย์ในกลุ่มเห็ดราตามธรรมชาติ เมื่อปลูกป่าไป 2-3 ปีเห็ดราคาแพงงอกออกมาโดยที่ไม่จำเป็นต้องรอให้ต้นไม้โต ไม่ต้องเผาป่าหาเห็ดอีกต่อไป...ปลูกป่าแบบผสมผสาน ด้วยศาสตร์แห่งพระราชา

แน่นอนว่าการเพิ่มพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารสีเขียว ลดปัญหาเรื่องการเผาป่า ก็จะช่วยลดปัจจัยที่เป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาฝุ่น PM2.5 ไปในตัว ...บูรณาการเพื่อการพัฒนาและเติบโตอย่างยั่งยืน

ทำวันนี้เพื่ออนาคต แล้ว...ก็ต้องตระหนักรู้ อย่าตื่นตัวจนเกิดอาการตื่นตูมจนเกินเหตุ นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ บอกว่า คนไทยอย่าตื่นตระหนกกับฝุ่น PM2.5 มากเกินไป...มลพิษในอากาศขึ้นอยู่กับการปล่อยออกมาจาก “แหล่งกำเนิด” และ “สภาพภูมิอากาศ”

...

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์
นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์

“สภาพภูมิอากาศเราควบคุมไม่ได้ คนไทยต้องให้ความร่วมมือลดแหล่งกำเนิด ลดการปล่อยมลพิษทางอากาศ ลดการใช้เตาถ่าน เตาที่ใช้ฟืน ดูแลสภาพรถ ไม่ปล่อยควันดำ หยุดเผาเศษซากพืช...วัชพืช”

ตำรวจต้องเพิ่มความเข้มข้นตรวจจับควันดำ...เศรษฐกิจไทยขณะนี้ติดลบอย่างน้อย 8% ไม่ควรเอาเงินไปใช้ในสิ่งที่ทำแล้วไม่เกิดประโยชน์ เช่น ฉีดพ่นละอองน้ำเพื่อลดปริมาณการฟุ้งกระจายฝุ่นละออง นำรถบรรทุกน้ำออกทำความสะอาด พ่นน้ำจากสะพานลอย...ตึกสูง ช่วยในด้านจิตวิทยา แต่ไม่ช่วยด้านสุขภาพ

ประชาชนอย่า...“ตื่นตระหนก” หรือ “วิตกกังวล” ขอให้ใช้ชีวิตกันตามปกติ

นพ.มนูญ ย้ำว่า ฝุ่น PM2.5 มีมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมี มีฝุ่นจากทะเลทราย ไฟป่า ภูเขาไฟระเบิด มนุษย์มีวิวัฒนาการสามารถปรับตัวทาง พันธุกรรม มีชีวิตรอดมาได้...ประเทศไทยเพิ่งจะมีเครื่องมือตรวจวัดได้ไม่ถึง 10 ปี ถ้าดูย้อนหลังไป 70 ปี ถึงแม้เราจะหายใจฝุ่น PM2.5 มาตลอด... อายุขัยเฉลี่ยของคนไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

...

จากอายุเฉลี่ยแต่ก่อน 50 ปี ปัจจุบันผู้ชายเพิ่มเป็น 73 ปี ผู้หญิงเพิ่มเป็น 80 ปี เชื่อว่า...อีก 20 ปีข้างหน้าอายุเฉลี่ยของคนไทยจะเพิ่มขึ้นอีก ผู้ชาย 76 ปี ผู้หญิง 83 ปี เพราะฉะนั้นอย่าวิตกกังวลมากเกินไปกับฝุ่น PM2.5 โดยเฉพาะถ้าตัวเองไม่สูบบุหรี่

ในวันที่ฝุ่น PM2.5 สูงเกินค่ามาตรฐาน แนะนำให้กลุ่มเสี่ยงคือ เด็กเล็ก...ผู้หญิงตั้งครรภ์...คนสูงอายุ...คนที่มีโรคเรื้อรัง โรคภูมิแพ้ทางจมูก หอบหืด โรคถุงลมโป่งพอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดในสมองตีบ งดทำกิจกรรมและออกกำลังกายนอกบ้าน ใส่หน้ากากอนามัยเวลาออกนอกบ้าน

“หน้ากากอนามัยป้องกันได้ทั้งโรคโควิด-19 และฝุ่น คนปกติแนะนำให้อยู่กลางแจ้งได้ เพราะโอกาสรับเชื้อไวรัสโควิด-19 ในที่กลางแจ้งน้อยกว่าในที่ร่มมาก...โรคโควิด-19 เป็นโรคใกล้ตัว อันตรายกว่าฝุ่น PM2.5 มาก ติดเชื้อแล้วมีโอกาสป่วยหนักเสียชีวิตได้ในเวลาอันสั้น”

องค์การอนามัยโลกกำหนดค่ามาตรฐานของฝุ่น PM2.5 ไม่ให้เกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรใน 24 ชั่วโมง...ตัวเลข 25 ไม่ได้บอกว่าปลอดภัย นักวิจัยตั้งสมมติฐานเปรียบเทียบอันตรายของฝุ่น 25 มคก./ลบ.ม. (22-28) ใน 24 ชม.เท่ากับสูบบุหรี่ 1 มวน/วัน...ประเทศไทยตั้งค่ามาตรฐานที่ 50 มคก./ลบ.ม.ใน 24 ชม.

...

เท่ากับสูบบุหรี่ 2 มวน...ถ้าบางวันค่าฝุ่น PM2.5 ขึ้นไปเป็น 75 หรือ 100 ก็เท่ากับสูบบุหรี่ 3 หรือ 4 มวน/วัน...ประเทศไทยดีกว่าประเทศอินเดีย บางวันในประเทศอินเดียค่าฝุ่น PM2.5 เท่ากับสูบบุหรี่ 25 มวน

ใน 1 ปีกรุงเทพฯ มีวันที่ฝุ่น PM2.5 เกิน 50 มคก./ลบ.ม. ประมาณ 50 วัน...บวกกับ 315 วันที่เหลือประมาณ 25 มคก./ลบ.ม.จะเท่ากับสูบบุหรี่ประมาณ 200 + 315 = 515 มวน/ปี อันตรายจากการสูบบุหรี่มากกว่ามลพิษทางอากาศเป็น 10-20 เท่า...มีข้อมูล “คนสูบบุหรี่” อายุเฉลี่ยสั้นกว่าคนไม่สูบถึง 10 ปี

สำหรับมลพิษทางอากาศทำให้อายุเฉลี่ยสั้นลง 0.8-1.6 ปี การหายใจควันบุหรี่หรือฝุ่น PM2.5 ต้องใช้เวลากว่า 20 ปี จะเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง โรคมะเร็งปอด

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ สรุปสั้นๆว่า...“คนไทยอย่าตื่นตระหนกกับฝุ่น PM2.5 มากเกินไป”.