เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงกรณีโซเชียลออนไลน์เสนอเรื่อง “แม่บ้านหาเงินกู้ออนไลน์ แต่กลับถูกหลอกโอนเงินซ้ำหมดไปหมื่นกว่าบาท” สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันที่ค่อนข้างซบเซา การค้าขายฝืดเคือง อาจส่งผลให้คนไทยไม่สามารถหารายได้ได้เท่าเดิม ทำให้หลายคนต้องแสวงหาแหล่งกู้ยืมเงินที่เข้าถึงได้ง่าย

ปัจจุบันมี “สินเชื่อเงินสดออนไลน์” ปรากฏขึ้นในสื่อออนไลน์ ซึ่งก็มีทั้งรายที่กู้เงินได้จริง และบางรายที่เป็นมิจฉาชีพ รูปแบบของการหลอกลวงผ่านการปล่อยสินเชื่อออนไลน์บังหน้า

เมื่อผู้กู้มายื่นเรื่องขอกู้ ก็มักจะให้ผู้กู้โอนเงินไปบางส่วนเพื่อเป็นค่าค้ำประกันเงินกู้และบอกว่าจะคืนเงินส่วนนี้ให้หลังจากชำระหนี้หมดแล้ว

เมื่อผู้กู้โอนเงินไปแล้ว ปรากฏว่าไม่สามารถติดต่อผู้ให้กู้ได้ และไม่มีการโอนเงินในจำนวนที่ขอกู้มาให้ตามที่ตกลง ผู้กู้ซึ่งเดิมทีลำบากอยู่แล้วได้รับความเสียหาย

กลับถูกหลอกลวงซ้ำเข้าไปอีก

ในทางกฎหมายอาจเข้าข่ายความผิดฐานฉ้อโกง หากประชาชนทั่วไปเข้าถึงการโฆษณาสินเชื่อได้หรือมีผู้เสียหายจากโฆษณาหลายคน อาจจะเข้าข่ายความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน อาจจะเป็นความผิดฐานนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มีโทษจำคุกหรือปรับ

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. มองเห็นภัยจากอาชญากรรมที่ใช้เทคโนโลยีในการกระทำความผิดมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการพนันออนไลน์ การปล่อยสินเชื่อออนไลน์ รวมถึงการใช้สื่อออนไลน์กระทำสิ่งที่ผิดกฎหมาย สั่ง พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผบช.สอท.เร่งรัดปราบปรามผู้กระทำผิดทางเทคโนโลยีทุกรูปแบบ

...

ขณะนี้มีกลุ่มมิจฉาชีพออกมาหลอกลวงผู้คนที่เดือดร้อน การหลีกเลี่ยงป้องกันการถูกหลอกลวงในรูปแบบของการปล่อยสินเชื่อออนไลน์ ควรวางแผนการเงินล่วงหน้าและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของตนว่าจะสามารถชำระได้โดยที่ตนเองไม่เดือดร้อน

หากจำเป็นต้องกู้เงินจริงๆ

ควรศึกษารายละเอียดของผู้ให้กู้ให้ดี เพื่อป้องกันการถูกเอาเปรียบ, ควรเลือกกู้เงินจากสถาบันการเงินที่น่าเชื่อถือ มีสัญญาการกู้ที่ชัดเจนและเป็นธรรมต่อผู้กู้ หากพบเห็นความไม่ชอบมาพากลควรหลีกเลี่ยง

อย่าหลงเชื่อเพียงแค่คำโฆษณาสวยหรูว่ากู้ง่าย อนุมัติไว หรือหลงเชื่อรีวิวจากคนที่เราไม่รู้จัก ถึงแม้ว่าตนจะกำลังเดือดร้อนก็ควรจะใช้วิจารณญาณให้มาก

อาจตกเป็นเหยื่อเหล่ามิจฉาชีพ.

“เพลิงพยัคฆ์”
pluengpayak@thairath.co.th