พระเมธีธรรมาจารย์ (ประสาร) รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) เปิดเผยว่า ขณะนี้การบริหารมหาวิทยาลัยสงฆ์กำลังประสบปัญหามากมายทั้งในแง่ทรัพยากรบุคคล ประชากร งบประมาณ เทคโนโลยี นวัตกรรม วิจัย และสถานการณ์เฉพาะหน้า โดยปัจจุบันมหาวิทยาลัยสงฆ์ 2 แห่งคือ มจร.กับมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) ที่ได้รับผลกระทบจากหลากหลายปัจจัยที่แตกต่างกันออกไป เช่น จำนวนผู้เรียนหายากขึ้นทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ ขณะที่โลกยุคโควิด-19 เปลี่ยนไป ทำให้วิถีแห่งการเรียนการสอน ถูกปรับเปลี่ยนไปด้วย นิสิต นักศึกษานั่งนอนอยู่บ้านแต่สามารถพบศาสตราจารย์ชั้นนำในมหาวิทยาลัยชื่อดังทั่วโลก แปลว่า คู่แข่งขยายวงกว้างมากขึ้น ขณะที่รายได้จากรัฐลดลง มหาวิทยาลัยที่ขอรับงบประมาณจากรัฐ จะมีสัดส่วนที่จะต้องถูกลดงบประมาณลงมีความเป็นไปได้สูง เมื่อรายได้ในส่วนของมหาวิทยาลัยถดถอย ผู้เรียนลดลง การแข่งขันมากขึ้น เศรษฐกิจฝืดเคือง รายได้จากการจัดเก็บ การบริจาค และผลประโยชน์อื่นใดก็ย่อมได้รับผลกระทบไปด้วย แต่แบกรับภาระเพิ่มมากขึ้น ทั้งค่าใช้จ่ายของมหาวิทยาลัย ทั้งความคาดหวังจากภาครัฐและคนทั่วไป
รองอธิการบดี มจร.กล่าวต่อว่า ที่สำคัญ มหาวิทยาลัยสงฆ์ที่ลูกผสมมีมากขึ้น แต่เดิมมีเฉพาะพระสงฆ์สามเณรเท่านั้นที่มาศึกษาเรียน แต่ปัจจุบันนิสิต นักศึกษา มีทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ หลากหลายทั้งเพศ อายุ ความเชื่อและการแสดงออก ดังนั้น เมื่อเป็นลูกผสมก็ต้องระมัดระวังในเรื่องผลประโยชน์ ทิศทางในการดำรงสถานะของความเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์รวมทั้งเรื่องของความสามัคคีด้วย นอกจากนั้นยังมีเรื่องของการแข่งขันในเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศ งานวิจัย นวัตกรรม โดยเฉพาะนวัตกรรมด้านพระพุทธศาสนาเพื่อสนองตอบสังคม
...
“มหาวิทยาลัยสงฆ์ยุคเริ่มแรกอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ของรัชกาลที่ 5 แต่เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคต ดูเหมือนมหาวิทยาลัยสงฆ์จะตกอบ ไม่มีอนาคตและหาผู้สืบทอดยาก เมื่อตกมาถึงยุคที่เริ่มมีการเรียนการสอนผู้บริหารต้องต่อสู้ด้วยมือเปล่าและเสียสละท่านต่อสู้เพื่อให้ได้รับการ “ยอมรับ” ทั้งในทางนิตินัยและพฤตินัย ปัจจุบันมหาวิทยาลัยสงฆ์เมื่อมีสถานะต่างๆที่พึงมีพึงได้แล้วก็ต้องต่อสู้กับตัวเองให้มากขึ้น การพัฒนามหาวิทยาลัย การพัฒนาบุคลากรเพื่อให้ถูกทิศถูกทางและในขณะเดียวกันต้องสนองตอบสังคมเทคโนโลยีให้ได้ประสิทธิภาพขั้นสูง” พระเมธีธรรมาจารย์กล่าว.