ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. เผยถึงการนำยางพารามาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่าให้ได้มากกว่าการขายยางพาราในรูปวัตถุดิบต้นน้ำว่า เอ็มเทคมีเป้าหมายของการวิจัยคือ ยกระดับภาคการผลิต เพื่อช่วยเกษตรกรและอุตสาหกรรมในระดับต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ สร้างผลงานที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ที่ก่อให้เกิดเม็ดเงินให้กับเศรษฐกิจของประเทศได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท

“เริ่มจากน้ำยางสดและน้ำยางข้น ที่ใช้เทคโนโลยีสารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น สารรักษาสภาพน้ำยางสด เพื่อการแปรรูปยางแผ่น ลดมลพิษตกค้างในพื้นที่สวนยางกว่า 3,700 ไร่ น้ำยางข้นสำหรับผสมกับแอสฟัลต์ซีเมนต์เพื่อทำถนน ทดแทนการใช้น้ำยางข้น การนำ เนื้อยางจากของเหลือทิ้ง และ by product ในอุตสาห กรรมน้ำยางข้น กลับมาใช้ประโยชน์ สร้างรายได้เพิ่มแก่โรงงานน้ำยาง จนถึงระดับผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ในงานวิศวกรรมหรือใช้ในอุตสาหกรรม โดยการพัฒนาสูตรยางสำหรับผลิตภัณฑ์ยางคุณภาพสูงให้มีสมบัติตามความต้องการของอุตสาหกรรม ผ่านเกณฑ์ข้อกำหนดตามมาตรฐานด้วยต้นทุนในการผลิตที่สามารถแข่งขันได้”

...

ผอ.เอ็มเทค เผยว่า ปีนี้มีงานวิจัยที่อยู่ในขั้นตอนการทดสอบระดับอุตสาหกรรมและพร้อมส่งมอบ ได้แก่ สารช่วยให้น้ำยางจับตัว ช่วยลดปัญหาเรื่องกลิ่นในยางก้อนถ้วย ที่มีสมบัติเทียบเท่ายางก้อนถ้วยเดิม และต้นทุนราคาที่ไม่เพิ่มขึ้น โดยใช้สารที่ใช้ฆ่าเชื้อทางการแพทย์ ไปยับยั้งการเติบโตของจุลินทรีย์, การลดปริมาณโปรตีนในถุงมือยาง โดยร่วมมือกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เพื่อขยายโอกาสการเปิดตลาดของอุตสาหกรรมถุงมือยางธรรมชาติของไทย

ผลิตภัณฑ์ยางรูปแบบใหม่ เพื่อการเล่นและการเรียนรู้ อย่าง Para Dough การนำยางพาราผสมกับปาล์มน้ำมันและแป้ง ให้กลายเป็นยางนิ่มหลากหลายสีสัน ทดแทนดินน้ำมัน ข้อดี ไม่เปื้อนมือ นิ่มมือกว่าดินน้ำมัน ปล่อยทิ้งไว้แล้วไม่แข็งตัว สามารถนำมาปั้นใหม่ได้ตลอด ที่สำคัญไม่เป็นอันตราย เพราะเป็นสารสกัดจากธรรมชาติ พัฒนาสู่สไลม์ผง ของเล่นลักษณะเหนียว เป็นก้อน ยืดหยุ่น

สำหรับเด็กประถม Para Note ชอล์กพร้อมยางลบ ยางแข็งที่ได้จากกระบวนการผลิตยาง นำมาทำเป็นแท่งชอล์กหลาก หลายสีสัน ที่ไม่มีผลกระทบเรื่องฝุ่นชอล์กพร้อมกับยางลบ

นอกจากนี้ ยังได้เตรียมพัฒนากระบวนการผลิตยางแบบใหม่ ที่เรียกว่า “มาสเตอร์แบตช์ (Masterbatch) ยางธรรมชาติผสมสารตัวเติม ด้วยกระบวนการแบบต่อเนื่อง เพื่อรองรับการผลิตยาง ตลอดจนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยาง เพื่อช่วยสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการไทยให้เป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งในและต่างประเทศ.