ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผอ.ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า เอ็มเทคให้ความสำคัญกับการพัฒนาโจทย์วิจัยเพื่อให้เกิดการนำไปใช้งานจริงและก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและสังคม ตัวอย่างเช่น ยางพารา พืชเศรษฐกิจของประเทศที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูง โดยเป้าหมายของการวิจัยด้านยางพาราของเอ็มเทค คือการยกระดับภาคการผลิต เพื่อช่วยเกษตรกรและอุตสาหกรรมในระดับต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ สร้างผลงานที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงและก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเป็นมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท

“เริ่มจากน้ำยางสดและน้ำยางข้นที่ใช้เทคโนโลยีสารต่างๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ สารรักษาสภาพน้ำยางสดเพื่อการแปรรูปยางแผ่น ช่วยลดมลพิษตกค้างในพื้นที่สวนยางกว่า 3,700 ไร่ น้ำยางข้นสำหรับผสมกับแอสฟัลต์ซีเมนต์เพื่อทำถนน ทดแทนการใช้น้ำยางข้นทางการค้า มีการนำไปใช้ทำถนนลาดยางกว่า 4,610 กิโลเมตรใน 73 จังหวัดทั่วประเทศ จนถึงระดับผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ในงานวิศวกรรมหรือใช้ในอุตสาหกรรม โดยการพัฒนาสูตรยางสำหรับผลิตภัณฑ์ยางที่มีคุณภาพสูงให้มีสมบัติตามความต้องการของอุตสาหกรรม ผ่านเกณฑ์ข้อกำหนดตามมาตรฐานด้วยต้นทุนในการผลิตที่สามารถแข่งขันได้ และช่วยแก้ปัญหาให้อุตสาหกรรมกว่า 50 บริษัท” ผอ.เอ็มเทค กล่าว.