วิบากกรรมคนทำเกษตรบนดอย ต้องผ่านมรสุมชีวิตมากมาย ทั้งถูกหลอก ถูกโกง กดราคาผลผลิต...แต่ชีวิตจะฝ่าฟันไปให้ถึงฝั่งฝันได้ต้องยืนหยัดต่อสู้ทุกรูปแบบ

อย่างชาวไทยภูเขา เผ่าอาข่า บ.แม่งาวใต้ ต.บ้านร้อง อ.งาว จ.ลำปาง ที่รวมตัวกันตั้งกลุ่ม วิสาหกิจชุมชนแม่มาลัยฟาร์ม รวมพลังต่อสู้ให้ชุมชนยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง เพื่อจะได้หลุดพ้นจากวงจรการถูกฉ้อฉล

ด้วยการปลูกหม่อน แล้วนำผลผลิตมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สินค้า ภายใต้แบรนด์ของตัวเอง...แม่มาลัยฟาร์ม

“ชาวอาข่าอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้มาตั้งแต่รุ่นปู่ทวดโน่นแล้ว แต่เดิมพวกเราทำอาชีพปลูกข้าวไว้กิน กับปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ส่งให้กับพ่อค้าคนกลาง เขาเอาเมล็ด ปุ๋ย ยา มาให้เรานำไปใช้ก่อน พอถึงเวลาเก็บเกี่ยวพ่อค้าจะหักรายได้จากการขายข้าวโพด ชาวบ้านแทบไม่ได้อะไรเลย เพราะค่าเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด ปุ๋ย ยา ที่เอามาให้เราใช้ก่อนนั้น คิดในราคาแพงกว่าทั่วไปถึงเท่าตัว แถมยังกดราคารับซื้อข้าวโพด ชาวบ้านยิ่งทำยิ่งจน เป็นหนี้พอกหางหมู นอกจากจะเป็นหนี้แล้ว ยังมีปัญหาเรื่องสุขภาพ เพราะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีการใช้สารเคมีมาก ชาวบ้านเลยอยากเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นที่มันปลอดภัยมากกว่า แต่มีปัญหาว่าไม่รู้จะปลูกอะไร ถึงจะขายได้มีคนมารับซื้อ”

...

น.ส.พิมพ์ชนก อามง ประธานวิสาหกิจชุมชนแม่มาลัยฟาร์ม วัย 28 ปี ลำดับชีวิตความเป็นมาของชุมชน ก่อนจะมาร่วมกันปลูกหม่อนแปรรูปเป็นสินค้าที่ถือเป็นการดิ้นรนต่อสู้ครั้งใหญ่ของชาวอาข่า บ.แม่งาวใต้ เพื่อให้หลุดพ้นวงจรมิจฉาชีพวงการเกษตรหลอกสูบเลือด

เพราะก่อนจะมีการปลูกหม่อน...มีพ่อค้านำพันธุ์สตรอว์เบอร์รีมาขายและพูดจาหว่านล้อมชวนให้ชาวบ้านปลูก โดยสัญญาว่าจะรับซื้อผลผลิตทั้งหมด แต่ปรากฏว่า ชาวบ้านลงทุนลงแรงปลูกกันแล้ว ได้ผลผลิตแล้วเขามารับผลผลิตไปขายต่อก็จริง แต่ไม่ยอมจ่ายเงินให้ชาวบ้าน

ชาวบ้านถูกหลอกให้ปลูกสตรอว์เบอร์รี ฟรีแถมสูญเงินค่าพันธุ์อีกต่างหาก

“ปี 2554 หม่อนนี่ก็เหมือนกัน มีพ่อค้ามาชักชวนให้เราปลูก บอกว่าจะรับซื้อผลผลิตทั้งหมด แถมยังคุยอีกว่า การปลูกนั้นง่าย ปุ๋ยยาไม่ต้องใช้ แค่รดน้ำอย่างเดียว ตรงนี้โดนใจชาวบ้านมาก เพราะเราอยากทำเกษตรอินทรีย์ ไม่มีสารเคมี เขาเอาต้นพันธุ์มาขายให้ชาวบ้าน กล้าพันธุ์สูงประมาณหนึ่งคืบต้นละ 35 บาท ชาวบ้านเลยตัดสินใจซื้อปลูกทั้งหมู่บ้าน ซื้อต้นพันธุ์มาปลูกเป็นหมื่นๆ ต้นกันเลย ช่วงแรกๆก็ดูดี มีคนมาคอยให้คำแนะนำเรื่องการปลูก แต่พอปลูกไปได้ 6 เดือน ผลผลิตเริ่มออก ที่สัญญาว่าจะมารับซื้อก็ไม่มา และติดต่อไม่ได้อีกเลย”

พิมพ์ชนกเล่าต่ออีกว่า หนนี้ชาวบ้านเจ็บหนักกว่าตอนปลูกสตรอว์เบอร์รี ที่ตอนนั้นมีคนตกเป็นเหยื่อแค่ 4–5 ราย เป็นเงินไม่กี่หมื่นบาทเท่านั้น แต่หนนี้เจ็บหนัก ถูกโกงยกหมู่บ้านกันเลยทีเดียว รวมแล้วสูญเงินกันไปหลายแสนบาท

“ผลหม่อนที่ออกมาปีละ 2 ครั้ง ครั้งละ 3-4 ตัน ขายแทบไม่ได้เลย เรียกว่าต้องปล่อยให้เน่าเสียทิ้งไปหมด แม้เราจะพยายามเอาผลสดไปขายที่ตลาดก็ไม่มีใครซื้อ เพราะชาวบ้านไม่รู้จัก กินกันไม่เป็น ทุกครั้งที่ออกไปดูสวนหม่อน ชาวบ้านได้แต่ร้องไห้ เจ็บช้ำน้ำใจที่ถูกหลอกซ้ำซาก”

...

หลังจากปล่อยให้หม่อนเน่ามาหลายฤดู ด้วยเรียนจบ ปวช.ด้านเกษตร พิมพ์ชนก จึงนึกถึงหนทางการแปรรูป แม้ชีวิตจะไม่คุ้นเคยกับหม่อน ที่ฝรั่งเรียกว่า มัลเบอร์รี (Mulberry) มาก่อน เธอจึงขวนขวายหาความรู้จากศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เชียงใหม่ จนมีการส่งเจ้าหน้าที่มาอบรมให้ความรู้เรื่องการแปรรูปผลหม่อนให้เป็นผลิตภัณฑ์สินค้าที่ช่วยยืดอายุหม่อนได้นานขึ้น

ปี 2559 ผลิตภัณฑ์ชิ้นแรกที่แปรรูปได้สำเร็จ... น้ำหม่อนพร้อมดื่ม ทดลองนำออกไปขายตาม งานวัด งานประจำอำเภอ ปรากฏว่าขายหมด เลยทำให้มีกำลังใจที่จะแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อย่างอื่น มีทั้ง ข้าวแต๋นน้ำหม่อน, น้ำหม่อนสกัดเข้มข้น, ไซเดอร์หม่อน

ล่าสุดเตรียมแปรรูปเป็น ไวน์หม่อน เพราะเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าที่สามารถเก็บได้นานมากกว่า... สนใจอุดหนุนสินค้าเกษตรอินทรีย์ของชนเผ่าอาข่า แบรนด์ “แม่มาลัยฟาร์ม” ติดต่อได้ที่ 08-8785-9947 หรือ เฟซบุ๊ก : แม่มาลัยฟาร์ม ขุนเงินงาว.

ชาติชาย ศิริพัฒน์