‘บ้านปู เน็กซ์’ ผนึก 4 ภาคี ‘เทศบาลนครภูเก็ต’ ‘เทศบาลตำบลราไวย์’ ‘ชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต’ และ ‘แพลนเน็ต’ พัฒนาภูเก็ตสมาร์ทซิตี้ นำโซลูชันฉลาดวิเคราะห์ ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย แก้ปัญหาโควิด-19 อาชญากรรม และสิ่งแวดล้อม นำร่อง 2 พื้นที่ยุทธศาสตร์ บริเวณถนนถลาง-ซอยรมณีย์ และตำบลราไวย์ (บริเวณเทศบาล และแหลมพรหมเทพ) ชูรายแรกของไทยที่พัฒนา ‘สมาร์ทคอมมูนิตี้ แพลตฟอร์ม’

นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และบริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด กล่าวว่า “ในปี 2564 นี้ บ้านปู เน็กซ์ บริษัทลูกของบ้านปู ยังคงดำเนินงานภายใต้กลยุทธ์ Greener & Smarter โดยได้รวบรวมความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านโซลูชันพลังงานสะอาดมาพัฒนาต่อยอดเป็น ‘5 โซลูชันพลังงานฉลาด’ (Smart Energy Solutions) ประกอบด้วย ฉลาดวิเคราะห์ ฉลาดผลิต ฉลาดเก็บ ฉลาดใช้ และฉลาดหมุนเวียน เพื่อสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศสู่สมาร์ทซิตี้ได้อย่างเป็นรูปธรรม ประเดิมด้วยการนำ ‘โซลูชันฉลาดใช้’ ได้แก่ เรือท่องเที่ยวไฟฟ้า และสถานีอัดประจุไฟฟ้าไปให้บริการในแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่จังหวัดภูเก็ต ล่าสุดร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และชุมชน เดินหน้าโครงการใหญ่ ‘ภูเก็ต ชุมชนน่าอยู่ สมาร์ท ปลอดภัย สุขใจทุกชีวิต’ นำ ‘โซลูชันฉลาดวิเคราะห์’ มาใช้วิเคราะห์ประเด็นปัญหาของทั้ง 2 พื้นที่ และออกแบบระบบความปลอดภัยที่ตอบโจทย์ความต้องการของแต่ละพื้นที่ โดยให้บริษัท แพลนเน็ต คอมมิวนิเคชั่น เอเชีย จำกัด (มหาชน) หรือ PLANET เป็นผู้ติดตั้งระบบฮาร์ดแวร์ และระบบปฏิบัติการอินเทอร์เน็ตออฟติงส์ (Internet of Things - IoT)

พร้อมกันนี้ยังนำสมาร์ทคอมมูนิตี้ แพลตฟอร์ม และแอปพลิเคชัน ซึ่งเป็นระบบซอฟต์แวร์ที่บ้านปู เน็กซ์ พัฒนาขึ้นเป็นรายแรกของไทย มาใช้พัฒนาโครงการสมาร์ทซิตี้ดังกล่าว โดยแพลตฟอร์มนี้สามารถเชื่อมต่อระบบปฏิบัติการของอุปกรณ์อื่นๆ และทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์ และประมวลผลด้วย AI ส่งเข้าสู่ศูนย์ควบคุมส่วนกลาง (War room) ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถวางแผน และป้องกันสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ ส่วนแอปฯ สมาร์ทคอมมูนิตี้ จะเป็นตัวช่วยให้เจ้าหน้าที่ใช้ดูอุปกรณ์ต่างๆ ของระบบฯ เพื่อเฝ้าระวัง ตรวจสอบ และสั่งการได้ทุกที่ทุกเวลา

ระบบความปลอดภัยที่นำมาติดตั้ง ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพเรื่องการเฝ้าระวังสถานการณ์โควิด-19 ครอบคลุม 5 ด้าน ตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ได้แก่ 1. นับจำนวนคน เพื่อจำกัดคนเข้าออก 2. ตรวจสอบความหนาแน่นของคนในพื้นที่ 3. ตรวจคัดกรองอุณหภูมิร่างกาย 4. ตรวจจับผู้ที่ไม่ใส่หน้ากากอนามัย 5. นำข้อมูลมาวิเคราะห์ไทม์ไลน์เบื้องต้นของผู้ที่เข้ามาในพื้นที่ และตรวจสอบผู้ที่สงสัยว่าติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถใช้แอปฯ ติดตามข้อมูลทั้งหมด พร้อมระบบแจ้งเตือนแบบเรียลไทม์ เมื่อพบความผิดปกติ และรายงานเหตุการณ์ไปยังศูนย์ควบคุมส่วนกลาง เพื่อควบคุมสถานการณ์ได้ทันเวลา

โดยระบบด้านความปลอดภัยที่ติดตั้งทั้งหมด มีดังนี้ 1. เซนเซอร์คัดกรองโควิด-19 แบบไร้สัมผัส มีระบบตรวจจับอุณหภูมิร่างกายที่มีความแม่นยำสูง 2. สถานีเฝ้าระวังอัจฉริยะ (Smart Surveillance) ประกอบด้วย กล้อง CCTV ที่ใช้บันทึกภาพเหตุการณ์ และบุคคลในระบบซอฟต์แวร์ของศูนย์ควบคุมส่วนกลาง (War Room) พร้อมมีเทคโนโลยี AI ที่นับจำนวนคนเข้าออกพื้นที่ แจ้งเตือนเหตุการณ์ผิดปกติ ตรวจจับวัตถุต้องสงสัย สืบค้นและติดตามบุคคล (Tracking) ด้วยการวิเคราะห์จดจำใบหน้า (Face Recognition) ระบบเสียงตามสายสาธารณะ (Public Address) และระบบรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน (SOS) 24 ชั่วโมง ซึ่งมีการใช้เทคโนโลยี CLOUD 3. สถานีเฝ้าระวังสภาพอากาศ (Air Quality) ตรวจวัดอุณหภูมิ ปริมาณฝุ่น PM2.5 และความชื้น 4. เซนเซอร์ตรวจวัดสถานะจุดจอดรถ (Smart Parking) เทคโนโลยีตรวจจับตำแหน่งการจอดรถ ที่มีเซนเซอร์แจ้งเตือนแบบเรียลไทม์ นอกจากนี้ยังได้นำระบบปฏิบัติการ IoT มาใช้ในการควบคุม และรวบรวมข้อมูลจากอุปกรณ์ต่างๆ ส่งไปยังสมาร์ทคอมมูนิตี้ แพลตฟอร์ม เพื่อประมวลผลต่อไป

ระบบความปลอดภัยเหล่านี้ สอดรับกับแนวทางการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ด้านการปกครอง (Smart Governance) สิ่งแวดล้อม (Smart Environment) เศรษฐกิจ (Smart Economy) ความเป็นอยู่ (Smart Living) การเดินทางและขนส่ง (Smart Mobility) รวมถึงช่วยยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยว ส่งเสริมให้เมืองภูเก็ตน่าอยู่ สร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยว ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ชุมชน และลดความกังวลเรื่องสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งทุกระบบฯ ได้เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการแล้ว ทั้งนี้เราจะเดินหน้านำโซลูชันพลังงานฉลาดอื่นๆ พร้อมบริการที่ครบวงจรในราคาที่เหมาะสม มาเติมเต็มการพัฒนาภูเก็ตให้ก้าวสู่สมาร์ทซิตี้โดยสมบูรณ์ โดยเราจะวางภูเก็ตเป็นโครงการต้นแบบสมาร์ทซิตี้ครบวงจร ซึ่งเราจะนำโซลูชัน และแพลตฟอร์มนี้ไปประยุกต์ใช้กับโครงการสมาร์ทซิตี้อื่นๆ ในอนาคต”