ประเทศไทยเคยได้รับยกย่องจากชาวโลก เป็น “สยามเมืองยิ้ม” แต่ถึงวันนี้อาจไม่เป็นจริงอีกต่อไป ผลการสำรวจความสุขของคนทั่วโลก ในปี 2563 คนไทยถือว่าเป็นปีที่มีความสุขต่ำสุด น้อยกว่าหลายประเทศ ในเอเชียอาคเนย์ สาเหตุไม่น่าจะเพราะโควิด-19 อย่างเดียว เพราะหลายประเทศโดนหนักกว่าไทยหลายเท่า

รายงานระบุว่าความสุขของคนไทย เริ่มลดลงตั้งแต่ปี 2555 ถึงปี 2563 ต่ำสุดในรอบทศวรรษ อาจเป็นผลจากปัจจัยหลายอย่าง ทั้งด้านการเมืองเศรษฐกิจและสังคม คนไทยเริ่มเป็นทุกข์มาตั้งแต่สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์จนถึงรัฐบาล คสช.และทุกข์ที่สุดในรัฐบาลปัจจุบัน ที่สืบทอดอำนาจจากรัฐบาล คสช.

ในด้านการเมือง เกิดความขัดแย้งอย่างยืดเยื้อยาวนานกว่าทศวรรษมีการชุมนุมขับไล่รัฐบาลครั้งใหญ่ๆ อย่างน้อย 3 ครั้ง ครั้งแรกขับไล่รัฐบาลทักษิณของกลุ่มพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตย ครั้งที่สองชุมนุมขับไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์ โดยกลุ่มแนวร่วม นปช. ครั้งที่สามชุมนุมขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดย กปปส. ยืดเยื้อรุนแรงทั้งสามครั้ง

ดูเสมือนว่าประเทศไทยถูกสาป ไม่ให้สามารถสืบทอดอำนาจโดยสันติ มีการชุมนุมที่ไม่สงบและนำไปสู่ความรุนแรง มีการบาดเจ็บล้มตายทั้งสามหนและมีการเข้าสู่อำนาจด้วยรัฐประหารถึง 2 ครั้ง กลายเป็นสาเหตุสำคัญของความ ขัดแย้งอย่างไม่จบสิ้น ความขัดแย้งทางการเมือง อาจทำให้คนไทยไร้ซึ่งความสุข

ปัญหาเศรษฐกิจก็อาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนไทยมีความสุขน้อยลง จนกลายเป็นปัญหาสังคม รายงานเรื่องเศรษฐกิจไทย โดยธนาคารโลกประจำไทยฉบับล่าสุด ระบุว่าพิษของโควิด ทำให้คนไทยเข้าสู่เกณฑ์ “ยากจน” เพิ่มขึ้น 1.5 ล้านคน ในปี 2563 รวมกับคนจนที่มีอยู่แล้ว 3.7 ล้านคน เป็น 5.2 ล้านคน

...

“คนยากจน” ตามเกณฑ์ของธนาคารโลก ได้แก่ ผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าวันละ 165 บาท หรือประมาณเกือบเดือนละ 5,000 บาท ถือว่าเป็นเส้นแบ่งความยากจน ผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และได้รับเงินจากรัฐเดือนละ 260 หรือ 300 บาท มีประมาณ 14.5 ล้านบาท จึงไม่ใช่คนจนทั้งหมด ตามคำจำกัดความธนาคารโลก

ส่วนเหตุที่ความยากจนพุ่งขึ้นในปี 2563 โควิดอาจเป็นสาเหตุใหญ่ เพราะทำให้ธุรกิจมากมายปิดกิจการคนว่างงานหลายล้านคน กลายเป็นคนจนขึ้นใหม่ ถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่พุ่งสูงสุดใน 12 ปี รวมทั้งปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ด้านการเข้าถึงบริการรัฐ ด้านอำนาจศักดิ์ศรี จะให้มีความสุขอยู่ได้อย่างไร.