หลังจาก องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ประกาศให้ “แมลงเป็นแหล่งอาหารในอนาคตของโลก” ทดแทนแหล่งโปรตีนจากเนื้อสัตว์ เพื่อรองรับจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทุกสายตาต่างโฟกัสไปที่จิ้งหรีด

เพราะเลี้ยงง่าย บ้านเรามีองค์ความรู้ในการเพาะเลี้ยงมาหลายสิบปี จนพัฒนาไปถึงขั้น มกอช. ประกาศมาตรฐาน GAP สำหรับฟาร์มจิ้งหรีด เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ขณะที่ข้อมูลล่าสุดจากบริษัท Research and Markets ระบุให้ตลาดแมลงรับประทานได้ทั่วโลก มีอัตราการเติบโตระหว่างปี 2561-2566 ร้อยละ 23.8 คาดว่าในปี 2566 ตลาดจะมีมูลค่าสูงถึง 37,900 ล้านบาท

ฉะนั้น เราจะทำอย่างไรในการช่วงชิงตลาดนี้ ให้มาเป็นของคนไทยได้อย่างแท้จริง รวมไปถึงการผลิตและแปรรูปอย่างไรให้ตรงกับความต้องการของตลาดต่างประเทศ

“25 ปีที่แล้ว มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นแห่งแรกที่เริ่มวิจัย พัฒนาการทำฟาร์มจิ้งหรีดขึ้น และถ่ายทอดสู่เกษตรกรทั่วประเทศ กระทั่งปี 2540 ไทยเผชิญวิกฤติต้มยำกุ้ง เกิดภาวะขาดแคลนอาหาร คนตกงานหันกลับบ้าน เราจึงพัฒนาเทคนิคการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีด เพื่อใช้บริโภค และสร้างรายได้ จนกลายเป็นคู่มือการเลี้ยงขึ้น ต่อมาเอฟเอโอ เห็นความสำคัญของจิ้งหรีด และต้องการนำองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยฯ ใช้เป็นต้นแบบช่วยประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่ขาดแคลนอาหาร และสร้างรายได้ จึงมอบหมายให้เป็นตัวหลักในการทำคู่มือการเลี้ยง เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งโลก”

...

ศ.ดร.ยุพา หาญบุญทรง หัวหน้าภาควิชากีฏวิทยาและโรคพืช คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะที่ปรึกษาด้านแมลงกินได้ของ FAO ผู้เขียนหลักของหนังสือคู่มือ “Guidance on sustainable cricket Farming : A practical manual for farmers and inspec-tors” บอกถึงที่มาของคู่มือการปฏิบัติที่ดีทางการทำฟาร์มจิ้งหรีดฉบับสากล

เพื่อนำไปใช้เป็นต้นแบบให้ภาครัฐและผู้สนใจทั่วโลก นำไปเป็นแนวปฏิบัติของเกษตรกรในการทำฟาร์มจิ้งหรีดอย่างปลอดภัยและยั่งยืนต่อผู้บริโภค พร้อมทั้งสามารถต่อยอดธุรกิจและการตลาด เพื่อเพิ่มผลผลิตการเกษตรให้มีมูลค่ามากขึ้น รวมถึงใช้เป็นมาตรฐาน และมีคำแนะนำสำหรับใช้ของผู้ประเมินฟาร์มจิ้งหรีด เพื่อรับรองมาตรฐานการผลิตที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค...ซึ่งในอนาคตจะมีการแปลหนังสือคู่มือนี้เป็นภาษาต่างๆอีกด้วย

ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2556 FAO ได้แถลงข่าวและตีพิมพ์หนังสือที่เขียน โดย ศ.ดร.ยุพา หาญบุญทรง และคณะ เรื่อง ปศุสัตว์หกขา การทำฟาร์มแมลงกินได้ของประเทศไทย หรือ “Sixlegged livestock: Edible insect farming, collec-tion and marketing in Thailand” ทำให้เกิดมีธุรกิจทำฟาร์มแมลงกินได้ โดยเฉพาะจิ้งหรีดไปทั่วโลก และมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ FAO และ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เล็งเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องมีคู่มือ และข้อแนะนำที่ถูกต้องในการผลิตจิ้งหรีดที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และการประเมินความปลอดภัยในการผลิตฟาร์มแมลงกินได้นี้

“จ.ขอนแก่นและมหาวิทยาลัยฯ ตระหนักถึงความเป็นต้นแบบของไทยด้านแมลงกินได้ของโลก ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยฯ และเป็นผู้สร้างองค์ความรู้เรื่องการใช้แมลงเป็นอาหารคน และกำลังอยู่ระหว่างพัฒนาให้เป็นอาหารสัตว์ จนเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ขณะนี้จึงพยายามผลักดันให้ขอนแก่น เป็นฮับของแมลงกินได้ และมีแผนการที่จะจัดงานจิ้งหรีดโลกขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นครัวโลกด้านแมลงกินได้อย่างแท้จริง และในอนาคต และอยากให้นักวิจัยรุ่นใหม่ของประเทศ ไทยร่วมกันศึกษาต่อยอดทางด้านแมลงเพื่อใช้สำหรับเป็นยารักษาโรคต่อไป”

...

ทั้งนี้ เอฟเอโอได้เปิดตัวหนังสือ เรื่อง “คู่มือแนวการปฏิบัติที่ดีในการทำฟาร์มจิ้งหรีดอย่างยั่งยืน สำหรับเกษตรกรและผู้ประเมินฟาร์ม” หรือ “Guidance on sustainable cricket Farming : A practical manual for farmers and inspectors” ณ สำนักงานใหญ่ กรุงโรม ไปเมื่อเร็วๆนี้ โดยผู้สนใจทั่วโลกสามารถ download คู่มือเล่มนี้ได้ที่ http://www.fao.org/3/cb2446en/cb2446en.pdf.

กรวัฒน์ วีนิล