กรณีตัวแทนรัฐบาลออกมาพยายามโฆษณาว่า อีกไม่กี่เดือนเราจะมี วัคซีนต้านโควิด-19 ใช้แล้ว แต่ไม่บอกรายละเอียดว่า ใครจะได้ใช้บ้าง มีจำนวนเพียงพอกับประชากรหรือไม่ ขณะที่ การแพร่ระบาดโควิด-19 หนักขึ้นทุกวัน โดยเมื่อเดือน พ.ย.2563 รัฐบาลไทย ไปลงนามซื้อวัคซีนที่พัฒนาโดย ออกซ์ฟอร์ด ร่วมมือกับ แอสตราเซเนกา ของ อังกฤษ จำนวน 26 ล้านโดส สามารถใช้ฉีดต้านไวรัสให้กับประชาชนได้ 13 ล้านราย เพราะต้องฉีดคนละ 2 เข็มขึ้นไปจึงจะได้ผล อย่างไรก็ตาม นพ.นคร เปรมศรีผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ยืนยันว่า การฉีดวัคซีนให้ประชาชนจะต้องมีจำนวนครึ่งหนึ่งของประชากรของประเทศ และจะต้องเพิ่มเป็นร้อยละ 70 ในปี 2565 จึงสามารถที่จะป้องกันการแพร่ระบาดอย่างได้ผล ไม่ใช่ฉีดวัคซีนจำนวนหนึ่งแล้วจะมีผลครอบคลุมทั้งประเทศ

สำหรับวัคซีนที่จะฉีดให้คนไทย เป็นวัคซีนที่ผลิตโดยบริษัทคนไทย สยามไบโอไซเอนซ์ ภายใต้ความร่วมมือของ แอสตรา-เซเนกา ที่เข้ามาควบคุมการผลิต เราไม่สามารถจะผลิตใช้เองได้ กระบวนการผลิตต้องใช้เวลา เช่น 20 ล้านโดส จะต้องใช้เวลา 4-5 เดือนขึ้นไป ปรากฏว่าระหว่างนี้ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.สาธารณสุข ออกมาคุยว่าสามารถหาซื้อวัคซีนได้ไม่น้อยกว่า 2 ล้านชุด ในระหว่างเดือน ก.พ.-เม.ย.นี้ (ไม่ระบุที่มา)

โดยต้องเข้าใจว่า วัคซีนของอังกฤษ กับวัคซีน ไฟเซอร์ ที่จับมือกับ ไบโอเอ็นเทค และ โมเดอร์นา ระหว่าง สหรัฐฯ และ เยอรมนี มีวิธีการผลิตที่แตกต่างกัน ซึ่งไฟเซอร์ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากองค์การอนามัยโลกเป็นเจ้าแรก มีคุณสมบัติ ครบถ้วนตามมาตรฐาน ของ WHO มีความครอบคลุมเพียงพอ แม้จะมีข้อจำกัดในการเก็บรักษาที่อุณหภูมิ -60 ถึง -90 องศาก็ตาม

เศรษฐกิจในยุค New Normal วัดดวงกันที่ ใครผลิตวัคซีนได้สำเร็จก่อนได้เปรียบ ยิ่งถ้าใคร ฉีดวัคซีนต้านโควิดได้ก่อน ยิ่งได้เปรียบมากขึ้นไปอีก เลยมีการจับเอา วัคซีนต้านโควิด-19 มาเป็นดัชนีวัดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ยกตัวอย่าง ในยุควิถีใหม่ ทำนายว่า จีน จะโตแซงหน้า สหรัฐฯ ชนิดไม่เห็นฝุ่น ในกรณีที่ประเทศไหนได้รับวัคซีนช้ากว่าบ้านอื่นเมืองอื่น เศรษฐกิจจะลุ่มๆดอนๆ ตกท้องช้างเป็นรูปตัว L เป็นต้น

...

จะเกิดสงครามเย็นเศรษฐกิจไม่ต่างจากสงครามโลก

การแข่งขันกันทางด้านเทคโนโลยี การเอาชนะธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นงานใหญ่ของแต่ละประเทศ ในขณะที่ ธุรกิจไอที จะโตขึ้นร้อยละ 28 เวลาเดียวกัน ธุรกิจปกติทั่วไป การค้าปลีกค้าส่ง จะโตประมาณร้อยละ 3 ประเทศ เกษตรกร ชาวไร่ ชาวนาจะได้รับผลกระทบมากที่สุด

ถ้าเรายังไม่เปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ยังออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แจกฟรี มีเกียรติ เที่ยวด้วยกัน คนละครึ่ง ยังมุ่งสร้างรถไฟฟ้า พัฒนาวัตถุมากกว่าเร่งพัฒนาคน ไม่มีการเร่งพัฒนาระบบการศึกษาและสาธารณสุขของประเทศให้ก้าวไกลกว่านี้ คิดกันสั้นๆง่ายๆ ลด แลก แจก แถม มุ่งแต่แก้ปัญหาในระยะสั้น หรือมุ่งหวังผลลัพธ์ทางการเมืองมากจนเกินไป

เราจะกลายเป็นขี้โรคแห่งเอเชียอย่างสมบูรณ์แบบ.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th