“ตลอดปี 2563 เป็นปีที่อุตสาหกรรมหมูทั่วโลก ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรค ASF ในสุกร หรืออหิวาต์หมู สถานการณ์นี้เอง สะท้อนให้เห็นภาพความร่วมมืออย่างจริงจังของผู้เกี่ยวข้องในวงการสุกรไทยในทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน ที่ช่วยกันเฝ้าระวังและป้องกันอย่างเข้มแข็ง ทำให้ไทยเป็นประเทศเดียวในเอเชียที่คงสถานะปลอดโรค ASF จนถึงปัจจุบัน ช่วยตอกย้ำถึงมาตรฐานการผลิต และความปลอดภัยทางอาหารของหมูไทยได้เป็นอย่างดี ทำให้ช่วงที่ผ่านมา เรามีออเดอร์จากต่างประเทศเข้ามาอย่างต่อเนื่อง”

นายสัตวแพทย์ วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ บอกถึงการร่วมมือร่วมใจกันป้องกันโรค ASF ของไทย จนเรากลายเป็นหนึ่งเดียวในเอเชียที่ปลอดโรคนี้โดยสิ้นเชิง...สำหรับปริมาณการผลิตหมูของไทยในปี 2563 มีผู้ประกอบการฟาร์มสุกรครบวงจร และเกษตรกรรายย่อยทั้งประเทศประมาณ 200,000 ฟาร์ม กำลังการผลิตรวมปีละกว่า 22 ล้านตัว เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่การผลิตอยู่ที่ 20.43 ล้านตัว

...

ปริมาณการผลิตขยายตัวตามราคาหมู ที่จูงใจให้เกษตรกรเพิ่มการผลิตขึ้น หลังจากช่วงกลางปี 2562 ราคาตกต่ำเป็นอย่างมากจากภาวะโอเวอร์ซับพลาย ผลผลิตเกินความต้องการ ประกอบกับปัจจัยเสริมจากความวิตกกังวลเรื่องโรค ASF ทำให้เกษตรกรทั้งรายย่อย รายกลาง และรายใหญ่ ต่างระมัดระวังในการเลี้ยงมากขึ้น โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย ที่ขาดทุนสะสมมานานกว่า 3 ปีก่อนหน้านี้

แต่เมื่อปริมาณหมูในภาพรวมลดลง ราคาพลิกกลับมาดีขึ้น เกษตรกรจึงหันมาเพิ่มการผลิตรองรับความ ต้องการบริโภค ขณะเดียวกัน ก็บริหารจัดการฟาร์มและป้องกันโรคระบาดได้เป็นอย่างดี ทำให้ประสิทธิภาพในการเลี้ยงสุกรเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น โดยการผลิตหมูของไทยเป็นการผลิตเพื่อรองรับการบริโภคภายในประเทศเป็นหลักประมาณ 97% ขณะที่ความต้องการบริโภคของคนไทยอยู่ที่ 1.49 ล้านตัน ในปี 2563 เพิ่มขึ้น 0.68% จากปี 2562 โดยการผลิตสุกรยังคงเพียงพอกับการบริโภคภายในประเทศ ไม่เคยมีปัญหาขาดแคลน

อย่างไรก็ตาม ราคาหมูตลอดทั้งปียังมีความผันผวน และต้องพบกับความท้าทายเมื่อโควิด-19 มีการระบาดในช่วงกุมภาพันธ์ กระทบต่อการท่องเที่ยวและการจับจ่าย ยิ่งเมื่อรัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ ปิดสถานที่เสี่ยง ทำให้ราคาขายหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มเริ่มเข้าสู่ภาวะตกต่ำ กระทั่งเริ่มทยอยปลดล็อกดาวน์ในช่วงพฤษภาคม ความต้องการบริโภคจึงกลับมาคึกคักขึ้น

ประกอบกับขณะนั้นยังอยู่ในช่วงฤดูร้อน อากาศร้อนแปรปรวน และภัยแล้ง ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตภาพรวมเสียหายกว่า 10% ราคาหมูจึงฟื้นตัวได้อีกครั้ง และประคองตัวมาได้ หากแต่ต้นทุนการเลี้ยงก็ปรับขึ้นเป็นเงาตามตัว ทั้งจากการลงทุนระบบไบโอซีเคียวในฟาร์มเพื่อป้องกันโรค ASF และโรค PRRS ตลอดจนปัญหาภัยแล้งอากาศแปรปรวน แต่สมาคมฯและเกษตรกรทั่วประเทศ ก็ยังคงยืนหยัดราคาหน้าฟาร์มไม่เกิน กก.ละ 80 บาท ตามที่กรมการค้าภายในขอความร่วมมือ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งช่วยเหลือค่าครองชีพแก่คนไทยฝ่าวิกฤติโควิด-19

สำหรับการส่งออกขยายตัวจากความต้องการของประเทศเพื่อนบ้านในแถบเอเชีย โดยเฉพาะ จีน เวียดนาม กัมพูชา และเมียนมา ที่ประสบปัญหา ASF ทำให้ผลผลิตไม่เพียงพอกับการบริโภคภายในประเทศ และราคาสุกรมีชีวิตเพิ่มขึ้น 2–3 เท่าตัว จากภาวะปกติ ตามกลไกตลาด จึงต้องพึ่งพาการนำเข้าจากไทย ทั้งในส่วนของหมูพันธุ์ หมูขุน และเนื้อหมู

...

สำหรับคาดการณ์อุตสาหกรรมหมูในปี 2564 แม้จะมีความท้าทายจากวิกฤติโควิด-19 และสถานการณ์ ASF ที่ยังพบการระบาดในประเทศต่างๆรอบไทย แต่แนวโน้มภาพรวมยังคงสดใส จากความต้องการบริโภค ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นทั้งในไทยและภูมิภาคเอเชีย ขณะที่ปริมาณการผลิตน่าจะใกล้เคียงกับปีนี้ จากภาวะโรค ASF และ PRRS ที่ยังต้องเฝ้าระวัง และเกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงลดความเสี่ยง ด้วยการเลี้ยงสุกรบางลง ไม่เต็มกำลังการผลิต สอดคล้องกับการผลิตหมูทั่วโลกที่ลดลงเหมือนกันทั่วโลก ฉะนั้นจึงเชื่อว่าหมูจะยังคงเป็นสินค้าปศุสัตว์เดียวที่เหลืออยู่ ที่จะสามารถนำเงินตราเข้าประเทศได้ในวิกฤติโควิด-19

แต่ทุกอย่างขึ้นกับว่า ทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมหมูไทย ทั้งภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร จะยังคงจับมือเหนียวแน่น เพื่อตั้งค่ายกลป้องกัน ASF ที่แข็งแกร่ง เหมือนที่เป็นอยู่ได้หรือไม่.


กรวัฒน์ วีนิล