มีประเด็นการดำเนินการตามกฎหมายเกี่ยวกับคดีอาญาที่น่าสนใจซึ่งข้าราชการและประชาชนควรรับรู้ เพื่อเป็นประโยชน์ หากมีเหตุจำเป็นต้องไปเกี่ยวข้องกับคดีอาญาเข้าไม่ว่าวันใดวันหนึ่ง
เป็นคำแนะนำของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยแนวทางการใช้โทษอาญา พ.ศ.2563 ที่ นางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา ให้ไว้กับผู้เกี่ยวข้องในการดำเนินคดีอาญา และเป็นคำแนะนำที่ออกมาอย่างเป็นทางการเพราะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2563
คำแนะนำดังกล่าวระบุว่า โดยที่การใช้โทษอาญาต้องคำนึงถึงพฤติการณ์ของการกระทำผิดกับโทษที่จะลงนั้นให้ได้สัดส่วนเหมาะสมกัน และต้องคำนึงถึงการฟื้นฟูผู้กระทำผิดให้รู้สำนึกในความผิดของตนเพื่อส่งกลับคืนสู่สังคมอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนป้องปรามมิให้ผู้กระทำผิดหรือผู้อื่นกระทำผิดซ้ำอีกด้วย
เมื่อโทษอาญาสำหรับลงโทษแก่ผู้กระทำผิดมีหลายรูปแบบ และการแก้ปัญหาอาชญากรรมไม่อาจอาศัยแต่โทษที่รุนแรงอย่างเดียว การใช้โทษอาญาย่อมต้อง ตระหนักถึงผลกระทบอย่างรอบด้านและพิจารณาปรับใช้โทษอาญาให้มีความเหมาะสมแก่ผู้กระทำผิดเป็นรายบุคคล ประกอบกับศาลมีอำนาจบังคับใช้มาตรการที่เป็นทางเลือกอันมิใช่การคุมขังได้อย่างกว้างขวาง
ดังนั้น เพื่อให้การใช้โทษอาญาเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ลดความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรม และเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม ประธานศาลฎีกาจึงออกคำแนะนำ ว่าด้วยแนวทางการใช้โทษอาญา ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 การลงโทษทางอาญาพึงคำนึงถึงเรื่องการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดให้เกิดความสำนึกรับผิดชอบที่พึงมีต่อสังคมและการป้องปรามมิให้เกิดการกระทำผิดอีก ในการกำหนดโทษสถานใด เพียงใด นอกจากพฤติการณ์เกี่ยวกับการกระทำผิดและความเสียหายแล้ว ศาลพึงพิจารณาถึงความเป็นมาแห่งชีวิตของผู้กระทำผิดดังที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ประกอบด้วยเสมอ แม้เป็นกรณีที่ไม่อาจรอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษได้ก็ตาม ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวอาจปรากฏจากการสืบเสาะ สำนวนการสอบสวน รายงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง หรือการไต่สวนของศาลก็ได้
...
ข้อ 2 โทษกักขังหรือจำคุกเป็นมาตรการที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลอย่างรุนแรง และส่งผลต่อการกลับคืนสู่สังคมของผู้กระทำผิด จึงต้องใช้ด้วยความตระหนักถึงผลกระทบอย่างรอบด้าน และพึงใช้ต่อเมื่อไม่สามารถใช้โทษหรือมาตรการที่เป็นทางเลือกอื่นได้ ระยะเวลากักขังหรือจำคุกควรได้สัดส่วนกับความจำเป็นในการป้องปรามมิให้เกิดการกระทำผิดซ้ำ และการฟื้นสำนึกของผู้กระทำผิดเป็นรายบุคคล
ประเด็นต่อมาเป็นเรื่องของการใช้โทษปรับ มีคำแนะนำว่า
ข้อ 3 การกำหนดจำนวนเงินค่าปรับศาลพึงคำนึงถึงฐานะการเงินหรือความสามารถในการชำระของผู้กระทำผิดแต่ละบุคคลประกอบด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้มีผลเป็นการยับยั้งมิให้เกิดการกระทำความผิดอีก จำนวนค่าปรับจึงอาจแตกต่างไปจากบัญชีมาตรฐานโทษได้
ข้อ 4 ถ้าลักษณะของความผิดไม่ใช่ความผิดที่ส่งผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจและสังคม เมื่อคำนึงถึงฐานะการเงิน รายได้ และภาระหนี้สินต่างๆของผู้กระทำผิดแล้ว ศาลอาจให้ผู้นั้นผ่อนชำระค่าปรับได้ภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นเหมาะสม และในระหว่างผ่อนชำระไม่ควรสั่งกักขังผู้นั้น เว้นแต่จะมีพฤติการณ์หลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับ
ข้อ 5 หากความปรากฏแก่ศาลว่า ผู้กระทำผิดไม่อยู่ในสถานะที่จะชำระค่าปรับได้ครบถ้วน เพราะเหตุยากจนและความผิดที่กระทำไม่มีลักษณะตามที่ระบุไว้ในข้อ 4 ศาลจะสั่งให้ผู้นั้นทำงาน บริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับทั้งหมดหรือแต่บางส่วนไปทันทีในวันพิพากษาคดี หรือในเวลาใดๆ ภายหลังจากนั้น โดยไม่ต้องมีการร้องขอก็ได้
ทั้งสองประเด็นแรกนี้สะท้อนถึงหลักเมตตาธรรมที่กำหนดให้ศาลคำนึงถึงประชาชนเป็นหลัก และยังมีประเด็นการรอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษ และการยกโทษจำคุกและการกักขังแทนโทษจำคุกซึ่งจะเล่าให้ฟังในวันพรุ่งนี้
“ซี.12”