ผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรแปรรูปต้องทันสมัยเข้ายุค...ฮวงจุ้ยทำเลที่ตั้งของร้าน ต้องอยู่ในชุมชน มีคนแวะเวียนไปมาไม่ขาดสาย ถึงจะขายได้ ถ้าขาดสิ่งเหล่านี้ หลายคนท้อถอย ไม่กล้าที่จะเดินลุยต่อเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าของตัวเองให้เดินหน้าไปได้ เชื่อหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด...หากรู้จักปรับเปลี่ยนและนำเทคโนโลยีความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาแก้ปัญหา

อย่างกรณี “ข้าวตังสุคันธา” ของบริษัทสุคันธา ไทยสแน็ค จำกัด จ.เพชรบุรี

ไม่เพียงจะนำข้าวหอมมะลิมาแปรรูปเป็นอาหารว่างโบราณ แค่ได้ยินชื่อ “ข้าวตัง” คนรุ่นใหม่ชู 3 นิ้วคงปฏิเสธ เพราะไม่ใช่แนว ใครที่ยังจะคิดผลิตออกมาขายคงไปไม่รอด สู้ขนมขบเคี้ยวจากต่างแดนไม่ได้

แล้วไหนจะเรื่องทำเลที่ตั้งของร้าน อยู่ในซอกหลืบ ซอย 9 ถนนบันไดอิฐ อ.เมือง จ.เพชรบุรี ไม่ได้อยู่ติดถนนใหญ่สายหลัก ที่นักเที่ยวจะแวะเวียนผ่านไปมา อย่างร้านขายของฝากเจ้าอื่นๆ

แต่สินค้าของเขากลับไปได้สวย...สามารถนำไปวางขายบนเชลฟ์ของห้างสรรพสินค้าได้ แถมยังส่งขายต่างประเทศได้อีกต่างหาก มีทั้ง เวียดนาม มาเลเซีย ดูไบ สหรัฐอเมริกา อีกต่างหาก

...

เขาทำได้อย่างไร???

“ครอบครัวเราทำข้าวตังทรงเครื่องแบบโบราณ สูตรใช้น้ำตาลโตนดปรุงรส ส่งขายตามตลาดนัดและร้านค้าทั่วไปในจังหวัด มาตั้งแต่ปี 2536 ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยนิยมกันเท่าไร มาปี 2550 แม่อายุมากขึ้น ทำไม่ไหว ตัวเราเองมีความต้องการที่จะสานต่ออาชีพนี้ เพื่อให้ขนมโบราณชนิดนี้ยังคงอยู่คู่กับสังคมไทยต่อไป เลยมานั่งคิดว่าวิธีปรับปรุงรูปโฉมขนมข้าวตังใหม่ ให้มีความร่วมสมัย เหมาะกับวิถีบริโภคของคนยุคปัจจุบัน”

จุฑารัตน์ ตั้งพาณิชย์ เล่าถึงที่มาของโฉมใหม่ของ ข้าวตังสุคันธา...ด้วยมีความรู้จบมาด้ายวิทยาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร การปรับรูปโฉมข้าวตัง เริ่มตั้งแต่ปรับขนาดให้เล็กลง จาก 7 ซม. ลงมา เหลือแค่ 3 ซม. ทั้งนี้เพื่อให้กินง่าย เหมาะกินบนรถได้ ข้าวตังจะได้ไม่แตกหักหกหล่นเลอะเทอะ เหมือนอย่างข้าวตังแบบเดิมที่ต้องกัดกินหลายคำถึงจะหมดชิ้น

พร้อมกับทำข้าวตังหน้าใหม่ๆที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อเอาใจลูกค้ากลุ่มคนรักสุขภาพ และถูกปากคนรุ่นใหม่

“ที่สำคัญต้องยืดอายุสินค้าให้สามารถวางจำหน่ายได้นานขึ้นเป็นปี จากเดิมที่วางขายได้แค่ 2 เดือน เพราะสินค้าเราจะสามารถไปวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าได้ สินค้าของเราต้องวางบนเชลฟ์ได้นานไม่น้อยกว่า 6 เดือน

จะทำได้อย่างไรโดยไม่ต้องพึ่งพาสารกันบูด ตรงนี้เราใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ร่ำเรียนมา อากาศเป็นตัวสำคัญที่ทำให้ข้าวตังมีอายุสั้น เราได้นำเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์มาใช้ มาบรรจุใส่ข้าวตังเป็นซองเล็กๆ โดยใช้วัสดุที่อากาศเข้าไปสัมผัสกับข้าวตังได้น้อยลง”

แต่กระนั้นด้วยทำเลที่ตั้งของร้านไม่ได้อยู่ในจุดที่ดี การจะทำให้สินค้าเป็นที่รู้จัก แถมยังเป็นสินค้าที่ยังไม่มีคนรู้จัก ไม่คุ้นเคย ณ วันนั้น โลกโซเชียลยังไม่บูมเหมือนวันนี้ จุฑารัตน์ เลยต้องใช้วิธีนำสินค้าของตัวเองไปเปิดตัวตามงานแสดงสินค้าโอทอป และงานต่างๆที่ทางราชการจัดขึ้น เพื่อให้ผู้คนได้รู้จักข้าวตังสุคันธา และเรียนรู้วิธีการบริหารจัดการสินค้าไปพร้อมๆกัน

หลังจากใช้เวลาตระเวนออกงานมา 1 ปี...ในที่สุดได้รับการคัดเลือกให้เข้าไปขายในห้างสรรพสินค้า...และมีออเดอร์ลูกค้าจากต่างประเทศตามเข้ามา

จากบทเรียนและประสบการณ์ที่ผ่านมา จุฑารัตน์ ให้ข้อคิดในการทำสินค้าเกษตรแปรรูป ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้...ต้องรู้จักเรียนรู้พฤติกรรมผู้บริโภค ปรับเปลี่ยนสินค้าให้สอดคล้องกับความ ต้องการของผู้บริโภค ยกระดับสินค้าของตัวเองให้ได้มาตรฐาน เขามีมาตรฐานอะไรกำหนด เราต้องทำให้ได้

...

เรื่องร้านอยู่ในทำเลไม่ดี ยุคนี้ไม่ใช่อุปสรรคอีกต่อไปแล้ว เราอยู่ที่ไหนสามารถขายสินค้าได้หมด ...ที่สำคัญอย่าไปกลัวเทคโนโลยี ถึงจะแก่อายุมาก ต้องกล้าที่จะเรียนรู้ทุกอย่าง ทำทุกอย่างด้วยความ จริงใจและซื่อสัตย์.

ชาติชาย ศิริพัฒน์