นางสาวรัชนีวรรณ สุขสำราญ นักวิชาการด้านปศุสัตว์ เล่าว่า ราคาไข่ไก่หน้าฟาร์มที่ 2.90 บาทต่อฟอง ตามประกาศของสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้า และส่งออกไข่ไก่ เป็นราคาที่พอให้เกษตรกรผู้เลี้ยงได้หายใจหายคอสะดวกขึ้น ก่อนหน้าที่แบกรับภาระขาดทุนมานาน หลายคนไม่รู้ว่า ราคาขายจริงเคยหล่นไปถึง 2.20-2.30 บาท

ช่วงที่ภาครัฐห้ามส่งออกไข่ จนมีปัญหา “ไข่ล้นตลาด” มีไข่ไก่ส่วนเกินในประเทศวันละกว่า 3 ล้านฟอง ทำให้ราคาดิ่งลง ภาครัฐต้องออกมาตรการแก้ปัญหา เพื่อลดปริมาณไข่ไก่เข้าสู่สมดุลการบริโภคในประเทศ

การปรับราคามาอยู่ในระดับนี้ ไม่ใช่การสร้างผลกำไรให้กับเกษตรกร เป็นเพียงการช่วยต่อลมหายใจให้พอมีทุนรอนในการใช้หนี้สินที่แบกรับมาก่อนหน้านี้ และใช้ต่อทุนให้อาชีพเลี้ยงไก่ไข่เดินหน้าต่อไปได้

ยิ่งเมื่อพิจารณาต้นทุนการผลิตตามตัวเลขของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เฉลี่ยทั้งปี อยู่ที่ 2.58 ต่อฟอง ขณะที่ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มที่เกษตรกรขายได้จริง เฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ฟองละ 2.65 บาท

เท่ากับคนเลี้ยงมีกำไรไม่ถึง 3 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ

ยิ่งถ้าฟาร์มไหนมีปัญหาเรื่องโรคหรืออากาศเปลี่ยนแปลงเข้าซ้ำเติมด้วย ต้นทุนกับราคาขายชนกันพอดี แทบไม่มีกำไรหรือบางฟาร์มถึงกับขาดทุน นี่คือความจริงที่เกษตรกรต้องเผชิญ

ราคาไข่ที่เพิ่มนี้ เกษตรกรเพียงแค่พ้นน้ำ จากก่อนหน้าต้องลุ่มๆดอนๆ เพียงขอความเห็นใจว่าต้องแบกรับภาระอะไรบ้าง เส้นทางไข่ไก่กว่าจะถึงมือผู้บริโภค ต้องผ่านกลไกตลาดหลายขั้นตอน เพราะวงจรการค้าไข่มีซัพพลายเชนยาว มีกระบวนการและคนกลางหลายขั้น มีผู้เกี่ยวข้องหลายระดับตั้งแต่ฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ ผู้รวบรวมไข่หรือล้งไข่ ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ผู้ค้าปลีก จนถึงร้านขายของชำหรือตลาดสดหมู่บ้าน

...

แต่ละขั้นมีค่าใช้จ่ายดำเนินการทั้งสิ้น

ราคาไข่ที่ประกาศปรับขึ้น 20 สตางค์ มุมผู้บริโภคมองว่าไข่แพงถ้าพิจารณาให้ลึกจะเห็นความจริงอีกด้าน เฉลี่ยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มจากราคาไข่ปรับขึ้น สำหรับคนเมืองเงินเพียงเท่านี้ไม่ทำให้เดือดร้อน

หากทุกคนเปิดใจทำความเข้าใจถ่องแท้ว่า ไข่ไก่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์หรือคอมโมดิตี้ ราคาแปรผันขึ้นอยู่กับอุปสงค์อุปทาน จากความต้องการผู้บริโภค หากไม่สมดุลกันแล้วราคาย่อมมีขึ้นมีลงตามกลไกตลาดช่วงนั้นๆ

ราคาที่ปรับขึ้นไม่ได้ทำให้เกษตรกรร่ำรวยขึ้น แค่ช่วยให้อาชีพการเลี้ยงไก่ไข่ไม่ล้มหายไป เพราะเกษตรกรทนรับภาระขาดทุนไม่ได้เท่านั้นที่สำคัญการสร้างเสถียรภาพราคาไข่ไก่ ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง

ไม่ใช่ภาครัฐ ภาคผู้ผลิต หรือเกษตรกร ที่ต้องเดินหน้าดำเนินการเรื่องนี้โดยลำพัง แต่ผู้บริโภคคนไทยทั้งประเทศช่วยได้ ด้วยการทานไข่เพียงคนละฟองต่อวัน เพื่อช่วยกระตุ้นให้อุตสาหกรรมไข่ไก่ได้เดินหน้าต่อ

ทำให้ยังมีเกษตรกรคอยผลิตไข่ไก่ โปรตีนคุณภาพดี.

“เพลิงพยัคฆ์”
pluengpayak@thairath.co.th