“ไทยแลนด์ เทคโชว์ 2563 (THAILAND TECH SHOW 2020)” ภายใต้แนวคิด “วิถีชีวิตใหม่ นวัตกรรม เพื่อการลงทุน” นี่คือ การเปิดฉากการนำ 290 กว่าผลงานวิจัยยุคนิวนอร์มอล มานำเสนอเพื่อให้เกิดการต่อยอดสู่การสร้างนวัตกรรมเพิ่มมูลค่าในเชิงพาณิชย์ ผ่านการเจรจาธุรกิจแบบ “REAL-TIME” กับผู้พัฒนานวัตกรรมจากทั่วโลกของ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในวันที่ 2-4 ธ.ค.2563 ในรูปแบบออนไลน์ผ่านเว็บแอปพลิเคชัน

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล

“งานไทยแลนด์ เทคโชว์ เป็นโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ นักลงทุนที่สนใจนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเสริมความเข้มแข็งของธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยไปสู่รูปแบบใหม่ เรียกว่า Bio-Circular-Green Economic Model (BCG Model)ที่จะช่วยต่อยอดจุดแข็งของประเทศให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ผ่านการส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน พลังงานสะอาดและการบริโภคและการผลิตอย่างมีความรับผิดชอบมานำเสนอในรูปแบบตลาดเทคโนโลยีที่นักวิจัยผู้คิดค้นนวัตกรรมจะมานำเสนอผลงานต่อนักลงทุน นักธุรกิจ นักอุตสาหกรรม สตาร์ตอัพ ตลอดจนผู้สนใจ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและโจทย์ความต้องการที่เหมาะสมกับธุรกิจ” ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผอ.สวทช.ผู้รับผิดชอบงานไทยแลนด์ เทคโชว์ 2563กล่าว

...

ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ขอนำเสนอ 5 ผลงานวิจัยเด่นๆยุคนิวนอร์มอลจาก สวทช.ที่จะนำเสนอในงานไทยแลนด์ เทคโชว์ ประกอบด้วย

“ชุดตรวจโควิด-19 ด้วยเทคนิคแลมป์เปลี่ยนสีในขั้นตอนเดียว (COXY-AMP)” ซึ่งเป็นเทคนิคตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสด้วยเทคนิคแลมป์ร่วมกับการอ่านผลด้วยสี ซึ่งง่ายสะดวก มีขั้นตอนการทดสอบเพียงขั้นตอนเดียว ใช้เครื่องมือราคาไม่แพง ทราบผลได้อย่างรวดเร็ว สามารถอ่านผลได้ด้วยตาเปล่าโดยไม่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการอ่านผล ซึ่งตอบโจทย์ในการนำมาใช้ตรวจคัดกรองโรคได้เพื่อช่วยควบคุมการแพร่กระจายของโควิด-19

“เปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแบบป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสำหรับการแพทย์ฉุกเฉิน (PETE เปลปกป้อง)” สำหรับการใช้งานด้านการแพทย์ฉุกเฉินมีประสิทธิภาพการป้องกันการแพร่เชื้อสูงถึง99.995%

“เครื่องบำบัดและฆ่าเชื้อในอากาศภายในอาคาร (Innovative Air Cleaner)” ประสิทธิภาพสูงถึง 99% สำหรับฝุ่นในช่วงขนาด 0.1-50 ไมครอน สามารถกำจัดกลิ่นและเชื้อโรคบางชนิดในอากาศได้

“โมเดลการผลิตสารทางชีวภาพเป้าหมาย (Smart-BIOact)” เครื่องทำนายศักยภาพของจุลชีพในการสร้างสารชีวภัณฑ์ สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพเป้าหมาย มีความถูกต้องแม่นยำมากกว่า 90% เพื่อคัดเลือกจุลชีพที่เหมาะสม

ทั้งมีผลงานวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่าด้านการเกษตรคือ “ไฮบริดชัวร์ การตรวจความบริสุทธิ์เมล็ดพันธุ์อย่างแม่นยำและรวดเร็ว(Hybrid-Sure)” เพื่อใช้ในงานตรวจเอกลักษณ์และความบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์ลูกผสมรวมทั้งแยกแยะสายพันธุ์

นอกจากนั้นยังมี หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อด้วยรังสียูวีซีแบบแหล่งกำเนิดรังสีเคลื่อนที่ (AGV-Cobot UVC), ชุดตรวจแอนติบอดีต่อเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 (PSU COVID-19) นวัตกรรมการคงสภาพสมุนไพรสด โดยใช้ RF Dry Blanching ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ คงสภาพสีและกลิ่นรสของสมุนไพรในฟิล์มบริโภคได้พร้อมปรุง (RF Dry Blanching), แผ่นฟิล์มถนอมอาหารและยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์ (Activ-Pack-19) และออฟติบอท เป็นต้น

...

“ตลอด 3 วันของการจัดงานจะได้สัมผัสกับผลงานและนวัตกรรมผ่าน นิทรรศการออนไลน์ในโซนต่างๆ รวมกว่า 290 ผลงานจาก 40 พันธมิตร ครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรม อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม เกษตร และประมง เภสัชภัณฑ์และเครื่องสำอาง เครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ วัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น แบ่งเป็น โซนเทคโนโลยีแนะนำ (ราคาเดียว) และเทคโนโลยีไฮไลต์ (เจรจาเงื่อนไข) Tech Start Up การเจรจาธุรกิจแบบ One-on-One Matching และขอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการผลิตและจำหน่าย รวมถึงบูธให้คำแนะนำและบริการแบบครบวงจรจาก สวทช. ที่ช่วยสนับสนุนการดำเนินธุรกิจเทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการ” ดร.ณรงค์ กล่าว

ขณะที่อีกหนึ่งไฮไลต์คือ กิจกรรม NSTDA Investors’ Day 2020 เป็นรูปแบบ Investment Pitching นักลงทุน นักธุรกิจ นักอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการสตาร์ตอัพ ผู้ที่มองหานวัตกรรมและพร้อมลงทุน และผู้สนใจเข้าร่วมงานลงทะเบียนได้ที่ www.nstda.or.th/thailandtechshow หรือโทร.0-2564-7000

“ทีมข่าววิทยาศาสตร์” มองว่า งานไทยแลนด์ เทคโชว์ 2563 จะไม่มีความหมายใดๆเลย หากไม่สามารถกระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัย ที่จะต้องสอดคล้องกับรูปแบบวิถีชีวิตแบบใหม่ ที่เป็นผลมาจากวิกฤติโควิด-19 เพราะความรู้และเทรนด์เทคโนโลยีแบบเดิมจะกลายเป็นเรื่องที่ตกยุคสมัย ใช้ไม่ได้อีกต่อไป

เราหวังว่าสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นจากงานไทยแลนด์ เทคโชว์ 2563 คือการนำสิ่งที่ได้จากการคิดค้นทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รูปแบบใหม่มาใช้ในชีวิตจริง

เพื่อตอบโจทย์ให้คนไทยสามารถอยู่รอดได้ในยุคนิวนอร์มอล.

...

ทีมข่าววิทยาศาสตร์