ข้าวหอมมะลิไทยไม่สามารถแข่งขันด้านปริมาณการส่งออกกับเพื่อนบ้านได้ สาเหตุหนึ่ง นอกจากราคาสูงกว่า การเพาะปลูกข้าวหอมมะลิ 105 มีอายุการปลูกที่ยาวนาน พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อาศัยน้ำฝน และปลูกได้เพียงปีละครั้ง ที่ผ่านมาเกษตรกรหลายรายจึงหันไปพึ่งสายพันธุ์ข้าวที่ยังไม่ผ่านการรับรองพันธุ์ ปลูกไปแล้วถึงเวลาเก็บเกี่ยวแม้บางพื้นที่จะให้ผลผลิตดี แต่ต้องพบกับปัญหาโรงสีไม่กล้ารับซื้อ
ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เผยว่า จากปัญหาที่ข้าวของไทยต้องประสบมาอย่างต่อเนื่อง ปี 2560 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จึงปรับปรุงพันธุ์ข้าวหอมไม่ไวแสง โดยใช้ข้าวหอมเวียดนามที่ชนะการประกวด นำมาเป็นโมเดลในการปรับปรุงพันธุ์
“ข้าวหอมมาลัยแมน เกิดจากการปรับปรุงสายพันธุ์ จากปลูกข้าวเจ้าหอมนิล ซึ่งในแปลงมีข้าวกลายพันธุ์จากข้าวสีม่วงเปลี่ยนเป็นข้าวสีขาว จึงคัดเลือกแล้วนำมาทดสอบปลูกในแปลงที่เป็นอินทรีย์ พบว่า หากปลูกด้วยวิธีดำ ระยะเวลา 115 วัน สามารถเก็บเกี่ยวได้ ส่วนการปลูกด้วยวิธีหว่าน ระยะเวลา 95 วัน โตเต็มที่พร้อมเก็บเกี่ยว สูง 75 ซม. ให้ผลผลิตไร่ละ 599 กก. มีความต้านทานโรคแมลง เมล็ดข้าวยาว 7.9 มม. เป็นเมล็ดมีความยาวที่สุดในกลุ่มข้าวหอมด้วยกัน คุณภาพหุงต้มดี ข้าวนุ่ม”
...
รศ.อภิชาติ วรรณวิจิตร ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสนบอกว่า ทีมวิจัยได้นำข้าวหอมมาลัยแมน ข้าวหอมปทุมธานี 1 และข้าว ST24 ข้าวเวียดนามที่ได้แชมป์ข้าวหอมปี 2562 มาเปรียบเทียบปลูกแบบนาดำในแปลงนาอินทรีย์
ปรากฏว่า ข้าวหอมมาลัยแมนอายุ เก็บเกี่ยว 110-115 วัน ให้ผลผลิตต่อไร่ 599 กก. ความยาวเมล็ดข้าวขัด ยาว 7.43-7.90 มม. ความกว้างของเมล็ดข้าวขัด 1.83 มม. มีความหอม 4.89 ppm
ส่วนข้าวหอมปทุมธานี 1 อายุเก็บเกี่ยว 120 วัน ผลผลิตต่อไร่ 496 กก. ความยาวเมล็ด 7.34 มม. เมล็ดกว้าง 1.97 มม. สัดส่วน 3.72 ความหอม 2.1 ppm
ในขณะที่ข้าวหอมเวียดนาม ST24 อายุเก็บเกี่ยว 110 วัน ให้ผลผลิตไร่ละ 264 กก. ความยาวเมล็ด 7.25 มม. เมล็ดกว้าง 1.72 มม. ความหอม 4.3 ppm
จากลักษณะความเด่นในด้านสายพันธุ์ คาดว่าข้าวหอมมาลัยแมนมีความเหมาะสมต่อการส่งเสริมให้เกษตรกรในภาคกลางและภาคตะวันออกเพาะปลูก เพื่อเจาะตลาดประเทศจีน และแข่งขันกับข้าวหอมเวียดนามได้อย่างแน่นอน โดยผลงานวิจัยดังกล่าวจะนำมาเปิดตัวในงานเกษตรกำแพงแสน 2563 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-10 ธ.ค.นี้.