สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านครับ สัปดาห์นี้มีเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับการส่งหนังสือให้กับลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกัน ปัจจุบันกฎหมายเกี่ยวกับการค้ำประกันมีการแก้ไขใหม่ มีขั้นตอนให้เจ้าหนี้ดำเนินการส่งหนังสือบอกกล่าวทวงถามไปยังผู้ค้ำประกัน ภายใน 60 วัน เมื่อลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัดชำระหนี้

หากเจ้าหนี้ยังไม่ได้เนินการส่งหนังสือบอกกล่าวทวงถามไปยังผู้ค้ำประกัน เจ้าหนี้ไม่มีอำนาจฟ้อง
อ้างอิง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3777/2560 และ 4603/2562 ซึ่งได้วินิจฉัยในทำนองเดียวกันว่า การที่เจ้าหนี้ไม่มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายใน 60 วันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด เจ้าหนี้ไม่มีอำนาจฟ้อง

ประเด็นที่น่าสนใจ คือ กรณีที่เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามหรือจดหมายไปยังผู้ค้ำประกันแล้ว แต่หนังสือบอกกล่าวทวงถามหรือจดหมายดังกล่าวไม่มีผู้รับ หรือ ถูกตีกลับ เจ้าหนี้ยังคงมีอำนาจฟ้องผู้ค้ำประกันได้หรือไม่

กรณีการส่งหนังสือขอให้ชำระหนี้และบอกเลิกสัญญาไปตามที่อยู่ของผู้ค้ำประกันที่แจ้งไว้ในสัญญาค้ำประกันนั้น แม้ว่าทางไปรษณีย์จะคืนหนังสือที่ส่งไปให้ผู้ค้ำประกัน เนื่องจากผู้ค้ำประกันไม่มารับภายในกำหนด ก็ต้องถือว่า ผู้ค้ำประกันได้รับหนังสือบอกกล่าวโดยชอบแล้ว เจ้าหนี้จึงมีอำนาจฟ้องผู้ค้ำประกันให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกันได้

อ้างอิง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 220/2562

ตามสัญญาค้ำประกันการเช่าซื้อรถยนต์ ข้อ 8 ระบุว่า "บรรดาหนังสือ จดหมาย คำบอกกล่าวใด ๆ ของเจ้าของที่ส่งไปยังที่อยู่ของข้าพเจ้าตามสัญญานี้ โดยส่งเองหรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน หรือไม่ลงทะเบียนไม่ว่าจะถึงตัวหรือไม่ถึงตัว และไม่ว่าจะมีผู้รับหรือไม่มีผู้ใดยอมรับไว้ หรือไม่ยอมมารับภายในกำหนดไปรษณีย์แจ้งให้มารับ ... ข้าพเจ้ายินยอมผูกพันให้ถือว่าหนังสือ จดหมาย หรือคำบอกกล่าวใด ๆ นั้น ได้ส่งให้ข้าพเจ้าโดยชอบแล้ว"

...

ข้อเท็จจริงปรากฏตามหนังสือขอให้ชำระหนี้และบอกเลิกสัญญาพร้อมใบตอบรับว่าโจทก์ได้ส่งไปตามที่อยู่ที่จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันแจ้งไว้ในสัญญาค้ำประกันดังกล่าวแล้ว

แม้ทางไปรษณีย์จะคืนหนังสือที่ส่งไปให้จำเลยที่ 2 เนื่องจากจำเลยที่ 2 ไม่มารับภายในกำหนดก็ตาม ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือบอกกล่าวโดยชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกันได้

แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2558 โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้และบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559 จึงพ้นกำหนดเวลา 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด จำเลยที่ 2 จึงหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลา 60 วัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 วรรคสอง

สำหรับหนี้การส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อและหากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนถือเป็นหนี้ประธาน แม้โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวแก่จำเลยที่ 2 เกิน 60 วัน นับแต่ผิดนัดก็ตาม จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันย่อมไม่หลุดพ้น ส่วนหนี้ค่าขาดประโยชน์ถือเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ จำเลยที่ 2 จึงหลุดพ้นจากความรับผิดเฉพาะที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนด 60 วัน

สุดท้ายนี้การตัดสินใจค้ำประกันให้แก่ผู้ใดนั้น ควรพิจารณาถึงผลที่จะติดตามมาในอนาคต กรณีที่ลูกหนี้ชั้นต้นไม่มีเงินชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ด้วยนะครับ เพื่อไม่ให้ท่านได้รับความเสียหายหรือต้องชำระหนี้แทนลูกหนี้ชั้นต้น จนท่านเองและครอบครัวได้รับความเดือดร้อนจากการตัดสินใจของท่านเอง

สำหรับท่านที่มีคำถามข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายและต้องการความช่วยเหลือ หรือมีเรื่องราวดีๆ อยากแบ่งปันประสบการณ์ เมลมาหาผมที่ “คุยกับคนดัง” talktoceleb@trendvg3.com ได้เลยครับ หรือ Facebook: ทนายเจมส์ LK
หรือ Instagram : james.lk

ส่งจดหมายบอกเลิกสัญญาให้ผู้ค้ำประกัน แต่ไม่มีผู้รับ หรือตีกลับ ถือว่าการแสดงเจตนาไปถึงผู้ค้ำประกันแล้ว เจ้าหนี้มีอำนาจฟ้อง