วิกฤติภัยแล้งในแต่ละปี รุนแรงมากขึ้นจนส่งผลต่อการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รวมถึงสร้างความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตรมากมาย การรับมือกับวิกฤตินี้ก็ไม่ใช่หน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่คือความรับผิดชอบร่วมกันของทั้งคนต้นน้ำจนถึงคนปลายน้ำ กลุ่มธุรกิจ TCP ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มชั้นนำของไทย ภายใต้แบรนด์กระทิงแดง เรดบูล เรดดี้ โสมพลัส สปอนเซอร์ แมนซั่ม เพียวริคุ และซันสแนค มีความตั้งใจจะสร้างการเติบโตของธุรกิจควบคู่กับการสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงได้ริเริ่มโครงการ “TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย” ขึ้น โดยเป็นโครงการระยะยาว 5 ปีในการสร้างความยั่งยืนด้านทรัพยากรน้ำให้กับประเทศไทย และมีโครงการย่อยอย่าง “TCP Spirit พยาบาลลุ่มน้ำ” เป็นส่วนหนึ่ง โดยนำอาสาสมัครคนรุ่นใหม่เข้าไปเรียนรู้ความสำเร็จการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำถึงต้นน้ำ ให้คนปลายน้ำสัมผัสและเข้าใจความสำคัญของน้ำด้วยหัวใจ

“พยาบาลลุ่มน้ำ” เป็นหน้าที่ของทุกคน

กลุ่มธุรกิจ TCP ในฐานะที่เป็นบริษัทอาหารและเครื่องดื่ม และมีนำเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิต หวังอยากเห็นการร่วมแรงร่วมใจกันของทุกฝ่ายเพื่อสร้างความยั่งยืนด้านทรัพยากรน้ำให้กับประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความเข้าใจ และปลูกจิตสำนึกต่อทรัพยากรน้ำให้แก่คนปลายน้ำ ในปีนี้ “TCP Spirit พยาบาลลุ่มน้ำ” ได้ชวนอาสาสมัครคนรุ่นใหม่เดินทางไปยังชุมชนบ้านตุ่น ตำบลบ้านตุ่น จังหวัดพะเยา ผ่านกิจกรรม “TCP Spirit พยาบาลลุ่มน้ำ ชวนก๊วนไปแอ่วกว๊าน Limited” เพื่อเรียนรู้ความสำเร็จการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำจาก “บ้านตุ่นโมเดล” ต้นแบบการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ภายใต้การทำงานร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ (อพ.) และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.)

การทำงานอาสาสมัครในครั้งนี้ ยังมีคณะผู้บริหารกลุ่มธุรกิจ TCP นำโดย “คุณสราวุฒิ อยู่วิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และรุ่นพี่อย่าง “อเล็กซ์ เรนเดลล์” TCP Spirit Brand Ambassador และทูตสันถวไมตรี โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ คนแรกของประเทศไทย (National Goodwill Ambassador for Thailand) มาช่วยส่งต่อแรงบันดาลใจ สร้างรอยยิ้ม และทำกิจกรรมร่วมกันตลอดการเดินทาง

ชุมชนบ้านตุ่น ตำบลบ้านตุ่น จังหวัดพะเยา เป็นอีกชุมชนที่เคยประสบปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รวมถึงไม่มีน้ำเพียงพอสำหรับทำการเกษตรในช่วงหน้าแล้ง จนกระทั่งต้องกลับมาร่วมแรงร่วมใจกันอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม เพื่อหาทางออกร่วมกัน แต่กว่าจะเข้ารูปเข้ารอยและผ่านวิกฤติซ้ำซากยาวนานไปได้ ก็ใช้เวลาไปกว่า 25 ปี ทว่าวันนี้ชุมชนบ้านตุ่นก็ยิ้มได้อย่างภาคภูมิใจ และกลายเป็นพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำสำคัญเพียงพอสำหรับหล่อเลี้ยงชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน จากความสำเร็จในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน ได้นำไปสู่ “บ้านตุ่นโมเดล” ที่พร้อมจะถ่ายทอดความรู้และแนวคิดนี้ไปยังชุมชนอื่นๆ หรือแม้แต่คนปลายน้ำให้ได้สัมผัส และเข้าใจคุณค่าของทรัพยากรน้ำอย่างแท้จริง

ซึมซับคุณค่าของน้ำผ่าน “บ้านตุ่นโมเดล”

“บ้านตุ่นโมเดล” นับเป็นความสำเร็จในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่น่าศึกษาแบบอย่าง เนื่องจากเกิดจากการรวมตัวกันของชาวบ้านในพื้นที่และมีคณะกรรมการแต่ละหมู่บ้าน ร่วมสร้างกฎเกณฑ์ ความเข้าใจ การกักเก็บน้ำ การร่วมกันบริหารจัดการน้ำเพื่อให้มีน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภคและทำการเกษตร ตลอดทั้งปี รวมทั้งการให้ความสำคัญกับ “การกระจายน้ำ” ตามแนวทางของบ้านตุ่นโมเดล ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยต้นน้ำและกลางน้ำจะจ่ายน้ำ 3 วัน ก่อนจะปิดสะสมน้ำอีก 10 วัน ส่วนปลายน้ำจะจ่ายน้ำ 4 วันเพื่อให้ทุกคนได้ใช้อย่างทั่วถึง

ไปดู 7 เคล็ดวิชา “พยาบาลลุ่มน้ำ” แบบบ้านตุ่นกันเลย

วิชาที่ 1 รักษาดอยหลวง คืนผืนป่าแหล่งต้นน้ำบ้านตุ่น

สัมผัสอ่างเก็บน้ำบ้านตุ่นและดอยหลวง ป่าต้นน้ำอันเป็นต้นกำเนิดของ 13 ลำน้ำสาขาที่ไหลลงมารวมกันที่อ่างเก็บน้ำแห่งนี้ ก่อนจะไหลผ่านลำห้วย ลำเหมือง ดูแลชีวิตของคน 11 หมู่บ้านในตำบลบ้านตุ่น และไหลลงสู่กว๊านพะเยา อาสาสมัครได้เรียนรู้วิธีจัดการของชุมชน โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับป่าต้นน้ำ ซึ่งชาวบ้านใช้เวลาถึง 25 ปีในการฟื้นฟู การได้เห็นผืนป่าตระหง่านอยู่ตรงหน้าก็ทำให้เข้าใจมากขึ้นว่าป่ากับน้ำสัมพันธ์กัน

วิชาที่ 2 ใช้ภูมิปัญญาชนะสงครามน้ำและสร้างความปรองดอง

เรียนรู้การจัดการปัญหาด้วยภูมิปัญญาชาวบ้านที่ให้ผลลัพธ์เป็นความเท่าเทียมและปรองดอง อย่างแนวทางของ “พ่อสม หลวงมะโนชัย” คนในชุมชนที่คิดค้น “แตปากฉลาม” ขึ้นมาช่วยจัดการกระแสน้ำในลำเหมืองให้มีน้ำส่วนหนึ่งไหลไกลไปยังที่สูงกว่าได้ และบางส่วนก็ไหลลงลำเหมืองได้เหมือนเดิม แก้ไขเรื่องการได้รับน้ำน้อยกว่าของชุมชนต้นน้ำ

วิชาที่ 3 เรียนรู้การเก็บกักน้ำ แบบบ้านตุ่นโมเดล

นอกจากการพักและเก็บกักน้ำ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยให้ชาวบ้านมั่นใจว่าจะมีน้ำกินน้ำใช้ตลอดทั้งปี การได้เรียนรู้เรื่องการกระจายน้ำก็เป็นอีกเรื่องที่น่าสนใจ การกระจายน้ำตามแนวของบ้านตุ่นโมเดลคือ “3-3-4” ต้นน้ำจะเปิดประตูน้ำ 3 วันเพื่อให้น้ำไหลลงไปที่กลางน้ำ ก่อนปิดอีก 10 วันเพื่อสะสมน้ำ ส่วนกลางน้ำจะเปิดประตูน้ำอีก 3 วันให้น้ำไหลลงไปปลายน้ำ และที่ปลายน้ำจึงค่อยจ่ายน้ำ 4 วัน

วิชาที่ 4 ปลูกแฝก เสริมไผ่ พลิกคืนความชุ่มชื้นให้ผืนดิน

เรียนรู้และช่วยกันสร้างกำแพงดินธรรมชาติ ด้วยการปลูกหญ้าแฝก ซึ่งเป็นพืชที่มีรากหนาแน่นและหยั่งลึก ช่วยอุ้มดินและลดการกัดเซาะของตลิ่ง และปลูกเสริมด้วยไผ่ พืชที่รากหนาแน่น โตไว สารพัดประโยชน์ ที่นำไปแปรรูปต่อได้หลากหลาย

วิชาที่ 5 กว๊าน คือแหล่งน้ำ กว๊านคือวิถีชีวิตของคนพะเยา

สัมผัสวิถีปลายน้ำที่โฮงเฮียนกว๊านพะเยา พร้อมเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนปลายน้ำที่อยู่ติดกับกว๊านพะเยา ซึ่งทำให้ได้เข้าใจมากขึ้นว่าจากต้นน้ำถึงปลายน้ำวิถีชีวิตสัมพันธ์และเชื่อมโยงกัน ความสมบูรณ์ที่ต้นน้ำคือความสุขที่ปลายน้ำเสมอเช่นกัน

วิชาที่ 6 สิ่งมีชีวิตในน้ำ ตัวบ่งชี้คุณภาพน้ำ

ศึกษาสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กกับกิจกรรม “นักสืบสายน้ำ” โดยสำรวจสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ในน้ำที่ตักขึ้นมาจากกว๊านพะเยา การได้เห็นกุ้งฝอย มวนน้ำ ตัวอ่อนหนอนปลอกน้ำ และแมลงเล็กๆ อีกหลายชนิดที่ไม่เคยสังเกต คือตัวบ่งชี้คุณภาพน้ำที่คนปลายน้ำหรือคนในเมืองอาจไม่เคยเข้าใจ

วิชาที่ 7 การจัดการน้ำไม่มีสูตรสำเร็จ

ทำความเข้าใจเรื่อง “การจัดการน้ำไม่มีสูตรสำเร็จ” จาก ดร.รอยบุญ รัศมีเทศ รองผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ซึ่งได้พบคำตอบอย่างหนึ่งว่า การจัดการน้ำทุกอย่างทำตามภูมิสังคม และทำตามสภาพแวดล้อม รวมถึงเป็นบทสรุปจากการเดินทางร่วมกันว่า การจัดการน้ำคือการร่วมมือกันของคนทุกคน

สำหรับการเดินทางผ่าน “TCP Spirit พยาบาลลุ่มน้ำ ชวนก๊วนไปแอ่วกว๊าน Limited” ครั้งนี้ แม้จะเป็นเพียงระยะเวลาอันสั้น แต่การได้เข้าไปสัมผัสสถานที่จริง และชีวิตจริงๆ ของคนต้นน้ำ ก็ทำให้คนปลายน้ำแทบทุกคนได้เข้าใจมากขึ้นด้วยว่า น้ำแต่ละหยดที่เราใช้ในทุกๆ วันมีคุณค่ามากมายขนาดไหน อาสาสมัครที่ได้เดินทางร่วมกันครั้งนี้ได้จุดประกายและส่งต่อแรงบันดาลใจในเรื่องคุณค่าทรัพยากรน้ำต่อไปยังเพื่อนฝูงใกล้ชิด ผ่านการทำ “ธีสิส” หรือวิทยานิพนธ์และแชร์ลงบนโซเชียลมีเดียของตัวเอง เพื่อส่งต่อความรู้สู่ความยั่งยืนต่อไป

ติดตาม “ธีสิส” หรือวิทยานิพนธ์สุดสร้างสรรค์ของอาสาสมัคร TCP Spirit ได้ที่ www.tcp.com และ https://www.facebook.com/TCPGroupThailand