ชาวไร่ในภาคอีสานและภาคกลางตอนบน นิยมปลูกยาสูบหลังการทำนา เพราะภูมิอากาศค่อนข้างเย็นเหมาะสม ใช้น้ำน้อย ที่สำคัญรายได้ต่อไร่ดีกว่าปลูกพืชประเภทอื่นถึง 2-3 เท่า...แต่กลับมีอุปสรรคมากมาย

ทั้งขั้นตอนปลูก เก็บเกี่ยวที่ค่อนข้างยุ่งยากกว่าพืชประเภทอื่น...ที่สำคัญกระแสต่อต้านการสูบบุหรี่ ที่ทำให้พื้นที่การเพาะปลูก รวมทั้งจำนวนผู้ปลูกค่อยๆลดลง

แต่ปัญหาที่หนักสุด เห็นจะเป็นการโดนตัดลดโควตารับซื้อยาสูบจากการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) สาเหตุหลักมาจากการขึ้นอัตราภาษีบุหรี่อย่างก้าวกระโดดเมื่อปลายปี 2560

สร้างความเดือดร้อนให้ชาวไร่ยาสูบ ต้องขาดรายได้เฉลี่ยครัวเรือนละ 26,000 บาทต่อปี เท่ากับเม็ดเงินประมาณปีละ 800 ล้านบาทของเกษตรกรจะหายไป และเป็นเช่นนี้มา 3 ปีติดต่อกัน

แม้ภาครัฐจะช่วยเหลือ สนับสนุนให้ ชาวไร่ยาสูบเปลี่ยนมาปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นแทน ถึงขั้นกรมสรรพสามิต หน่วยงานที่ดูแลพืชยาสูบ แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการส่งเสริมเกษตรให้ปลูกพืชชนิดอื่นทดแทนการปลูกยาสูบ เมื่อเดือน มิ.ย.2562

โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ยสท. กรมส่งเสริมการเกษตร ศึกษาและสำรวจหาพืชทดแทนที่เหมาะสม แต่ก็ยังไม่มีแนวทางอะไรที่เป็นรูปธรรมนัก

แม้ก่อนหน้านี้ เคยมีการเสนอให้ปลูกพริก ข้าวโพด อ้อย ทดแทน แต่พืชเหล่านี้ล้วนสามารถปลูกได้ทุกพื้นที่ ราคาเลยไม่แน่นอน...จึงไม่ใช่ทางเลือกที่สมน้ำสมเนื้อนัก เมื่อเทียบกับยาสูบที่สร้างรายได้เสริมที่มั่นคงให้ชาวไร่มานานกว่า 80 ปี

ต่อเมื่อกระแสปลดล็อกกัญชา กัญชง กระท่อม เพื่อผลักดันให้เป็นพืชเศรษฐกิจนำไปต่อยอดทางการแพทย์หรืออุตสาหกรรมอื่นๆที่หลายหน่วยงานก็มองว่าพืชเหล่านี้ อาจเป็นความหวังให้ชาวไร่ยาสูบได้

...

แต่กัญชา กระท่อม ยังมีข้อจำกัด ไม่เหมาะสมนำมาทดแทนยาสูบ ทั้งด้านวิธีการเพาะปลูก และเงื่อนไขในการปลูก ที่กำหนดให้ต้องขออนุญาตปลูก และต้องดำเนินการภายใต้วัตถุประสงค์ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และการศึกษาวิจัยเท่านั้น...ฉะนั้น จึงเหลือแค่กัญชงที่ยังพอมีลุ้น.

สะ–เล–เต