นับถอยหลังเปิดโฉมระบบ รถ-รางไทย “สถานีกลางบางซื่อ” ศูนย์กลางคมนาคมทันสมัยที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทดแทนสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) เพื่อรองรับความเจริญเติบโตของเมือง ในการเชื่อมโยงเครือข่ายการเดินทางขนส่งที่เป็นจุดเปลี่ยนถ่ายไปสู่รถไฟฟ้าชานเมือง รถไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟฟ้าบีทีเอส รวมทั้งเชื่อมโยงกับแอร์พอร์ตเรียลลิงก์ไปสนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมือง และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ในอนาคต

ด้วยเหตุนี้ “สถานีกลางบางซื่อ” มีขนาดความยาว 596.6 เมตร กว้าง 244 เมตร และสูง 43 เมตร มีพื้นที่ใช้สอยราว 274,192 ตร.ม. ภายใต้พื้นที่โดยรอบราว 2,325 ไร่ สามารถขยายสถานีรองรับรถไฟหลากหลายระบบทั้งรถไฟทางไกล รถไฟความเร็วสูง รถไฟชานเมือง ในการพัฒนาพื้นที่โดยรอบได้อีกมากมายด้วยซ้ำ

ภายใน “ตัวอาคาร” ยังถูกแบ่งออกเป็นชั้นๆ คือ ชั้นที่หนึ่ง...ห้องจำหน่ายตั๋วโดยสาร โถงพักคอย จุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ชั้นลอย...เป็นพื้นที่พาณิชยกรรม ร้านค้า และห้องควบคุม ชั้นที่สอง...สำหรับรถไฟใช้รางขนาด 1.00 เมตร อาทิ รถไฟทางไกล 8 ชานชาลา และรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง 4 ชานชาลา

...

ชั้นที่สาม...เป็นชั้นชานชาลารถไฟที่ใช้รางขนาด 1.435 เมตร คือ รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 2 ชานชาลา รถไฟฟ้าความเร็วสูงสายเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ 6 ชานชาลา รถไฟฟ้าความเร็วสูงสายใต้ 4 ชานชาลา รวมทั้งสิ้น 12 ชานชาลา

มาถึงชั้นใต้ดิน... เป็นพื้นที่สำหรับจอดรถที่รองรับได้ราว 1,624 คัน เบื้องต้นการก่อสร้างทั้งหมดมีความก้าวหน้าอย่างมาก ถ้าเปิดดำเนินการได้ในปีแรก คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการราว 208,000 คน-เที่ยว/วัน ในปี 2575 เพิ่มเป็น 396,000 คน-เที่ยว/วัน

ถ้าเปรียบเทียบกับ “สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง)” เปิดใช้งานเมื่อวันที่ 25 มิ.ย.2459 สถานีมีความกว้าง 100 เมตร ยาว 300 เมตร มีพื้นที่ใช้สอย 192,000 ตร.ม. ภายใต้พื้นที่ 120 ไร่ ถูกล้อมรอบด้วยคลอง ไม่สามารถขยายพื้นที่สถานีได้ ทำให้รับเฉพาะรถไฟทางไกล 14 ชานชาลา รองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 60,000 คน-เที่ยว/วัน

ทำให้ “สถานีกลางบางซื่อ” กลายเป็นศูนย์กลางการเดินทางด้วยระบบรางแห่งใหม่ของประเทศ รวมทั้งเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางที่ใหญ่ และทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และก็จะถูกพัฒนาเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การค้า โรงแรม อาคารสำนักงาน เพิ่มความสะดวกให้แก่ประชาชนในอนาคต

ในช่วงแรกๆ...ตามแผนการเปิดให้บริการสถานีกลางบางซื่อนั้น “การรถไฟแห่งประเทศไทย” จะยังไม่ย้ายขบวนรถไฟทางไกล และขบวนรถชานเมืองที่ออกจากสถานีกรุงเทพไปสถานีกลางบางซื่อทั้งหมด แต่จะพิจารณาให้ขบวนรถที่มีความพร้อมไปเปิดใช้บริการที่สถานีกลางบางซื่อก่อน

จากนั้น “สถานีกรุงเทพ” ก็จะเปลี่ยนจากสถานีรถไฟหลัก เนื่องจากจะมีขบวนรถเข้าสู่สถานีกรุงเทพน้อยลง แต่ยังคงเป็นสถานีรถไฟที่ให้บริการประชาชนเหมือนเช่นที่ผ่านมา และพัฒนาพื้นที่บางส่วนเป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ของประชาชนด้านประวัติศาสตร์ของการรถไฟฯ ตามที่ เจ้าหน้าที่ระดับสูงการรถไฟฯ บอกไว้

ตามรายงานในวันที่ 25 ก.ย.2563 การก่อสร้างตัวงานด้านสถาปัตยกรรม และอาคารสถานีกลางบางซื่อ ถูกดำเนินการเสร็จสิ้นเกือบ 100% แล้ว แต่คงเหลืองานติดตั้งระบบควบคุมเดินรถ ระบบการซื้อตั๋วโดยสาร ระบบการสื่อสาร และระบบเกี่ยวกับการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง โดยภาพรวมนี้มีความคืบหน้าไปแล้วราว 87%

สำหรับ “สถานีกลางบางซื่อ” เป็นสถานีที่มีทั้งระบบรถไฟฟ้า และรถไฟรางธรรมดา 12 ชานชาลา และมีการออกแบบรองรับรถไฟฟ้าความเร็วสูง ที่เรียกว่า “รถไฟไทย-จีน” ระหว่างสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ที่กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างอยู่ขณะนี้ อีกทั้งยังมีการออกแบบรองรับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน...

ตั้งแต่สนามบินอู่ตะเภา สนามบินสุวรรณภูมิ เข้ามายังสถานีพญาไท สถานีกลางบางซื่อ และสนามบินดอนเมือง

ประเด็น...“เปิดใช้อย่างเป็นทางการ” เบื้องต้นมีตัวรถไฟฟ้าเข้ามาเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ และคาดว่าเดือน พ.ย.2563 รถไฟฟ้าสายสีแดงก็น่าจะครบ 25 ชุด ถูกแบ่งออก 2 ส่วน คือ ชุดรถไฟฟ้าแบบ 4 ตู้โดยสาร และชุดรถไฟฟ้าแบบ 6 ตู้โดยสาร รวมทั้งหมดเป็น 130 ตู้ กำหนดเส้นทางเดินรถไฟฟ้า 2 สาย คือ...

ระหว่างสถานีกลางบางซื่อ-สถานีตลิ่งชัน และสถานีกลางบางซื่อ-สถานีรังสิต

เริ่มนำขบวนรถไฟออกมาวิ่งทดสอบแล้ว และทดสอบเดินระบบเช่นกัน คิดว่าการทดสอบนี้สิ้นสุดในเดือน ก.พ.2564 จากนั้นก็จะทดสอบเดินรถไฟฟ้าเสมือนจริง เพื่อเป็นการประเมินระบบ แผนความปลอดภัย และภาพรวมทั้งหมดสิ้นสุดเดือน มิ.ย.2564 ก่อนพิจารณาเปิดบริการอย่างเป็นทางการตามความเหมาะสมต่อไป

...

ส่วน...“การย้ายรถไฟสถานีกรุงเทพ” ยังไม่สามารถย้ายมาหมดได้ เพราะมีแผนโครงการก่อสร้างสายสีแดงส่วนต่อขยายสายหัวลำโพง-บางซื่อ ตามแนวเส้นทางเดินรถไฟเดิม และสายสีแดงบางซื่อ-หัวหมาก เริ่มก่อสร้างได้ราวปี 2566 ใช้เวลาดำเนินการ 3 ปี ดังนั้นถ้าเปิดสถานีกลางบางซื่อ ก็มีรถไฟย้ายมา 3 สาย ได้แก่...

รถไฟสายภาคใต้ สายภาคเหนือ และสายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยกเว้นสายภาคตะวันออก ที่ยังใช้สถานีเช่นเดิมชั่วคราว เมื่อสร้างส่วนต่อขยายสายสีแดงนี้เสร็จในปี 2570 ก็จะทำให้ “สถานีหัวลำโพง” ถูกลดบทบาทปรับเป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ของประชาชนด้านประวัติศาสตร์ของการรถไฟฯ

ตอนนี้ “สถานีกลางบางซื่อ” อาจยังไม่เต็มรูปแบบ เพราะสายสีแดงยังต้องพัฒนาขยายต่อออกไปอีก คือ สถานีกลางบางซื่อ-ม.ธรรมศาสตร์ และสถานีกลางบางซื่อ-ม.มหิดล ศาลายา มีแผนกำหนดเสร็จสิ้นในปี 2569 ถ้าเสร็จเต็มรูปแบบจะมีความยิ่งใหญ่ระดับอาเซียนแน่นอน

สิ่งสำคัญ...“พื้นฐานสถานีกลางบางซื่อ” โครงข่ายเชื่อมต่อรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน สายสีชมพู สายสีเขียว รถไฟฟ้า Airport Rail Link รถไฟความเร็วสูง และรถไฟรางต่างจังหวัด

ทำให้สถานีแห่งนี้มีลักษณะการใช้ระบบรางอย่างเต็มรูปแบบ พร้อมกับการพัฒนาพื้นที่รอบข้าง เพื่อให้เป็น “สมาร์ทซิตี้” หรือพื้นที่ธุรกิจในอนาคต ในการส่งเสริมซึ่งกันและกัน แต่ด้วยโควิด-19 ส่งผลให้การรถไฟฯ ต้องกลับมาทบทวนใหม่อีกครั้ง เช่น “โซนเอ” เคยประกาศประกวดราคา ในช่วงต้นๆโรคระบาด ที่นักลงทุนไม่สนใจมาก

...

ดังนั้น “การรถไฟฯ” อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่ หลังมีการเดินรถสายสีแดงแล้วก็ได้ เพราะจะเริ่มมีความชัดเจนของการใช้พื้นที่โดยรอบ ที่ไม่ใช่พื้นที่รกร้างว่างเปล่าอีกต่อไป แต่กลายเป็น “ทำเลทอง” ที่เป็นชัยภูมิเหมาะสมต่อการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ในอนาคต ทำให้ “นักลงทุน” อาจเกิดความสนใจมากขึ้นก็ได้

เมื่อเป็นเช่นนี้...“กรมขนส่งทางบก” ก็พิจารณาเปิดเดินรถประจำทางเชื่อมต่อสถานีกลางบางซื่อ-สถานีขนส่งจตุจักร (หมอชิต 2) ที่อยู่ระหว่างการเจรจาการรถไฟฯ เพื่อลดขนาดพื้นที่เช่า 58 ไร่ จากเช่าพื้นที่ 73 ไร่ รอเชื่อมต่อระบบรางหลังสถานีกลางบางซื่อสายสีแดง

เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อกับอู่รถเมล์ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. ที่อยู่ด้านข้าง สถานีรถตู้ถนนกำแพงเพชร รถโดยสารต่างจังหวัด สถานีหมอชิต 2 ใช้เวลาเดินทางเชื่อมต่อระบบขนส่งรถ Shuttle Bus ไปยังสถานีกลางบางซื่อได้สะดวกไม่นาน ที่เป็นสถานีศูนย์รวมระบบรถไฟ รถไฟฟ้า และรถไฟความเร็วสูง

จุดประสงค์ คือ การรถไฟฯ และ บขส. จะร่วมมือกันพัฒนาสถานีขนส่งแห่งนี้ให้กลายเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งด้านรถโดยสารของประเทศให้เกิดความทันสมัย มีความสะดวกแก่ประชาชนที่สุด

ล่าสุดก็มีกระแสมาแรงว่า...“สถานีรถ บขส.” อาจต้องย้ายกลับ “หมอชิตเก่า” ถนนพหลโยธิน ตรงข้ามสวนจตุจักร ที่มีลักษณะชัยภูมิ “ใจกลางเมือง” เพื่อให้บริการพื้นที่ใหม่เร็วๆนี้.