สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านครับ สัปดาห์นี้มีเรื่องที่น่าสนใจและมีแฟนเพจสอบถามผ่านทางเพจทนายเจมส์ LK เป็นจำนวนมาก เกี่ยวกับปัญหาด้านกฎหมาย ซึ่งมีข้อเท็จจริงแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับข้อตกลงตามสัญญาที่ได้ตกลงกับสถาบันการเงิน โดยสถาบันการเงินแต่ละแห่งจะมีนโยบายและรูปแบบของสัญญาให้บริการบัตรเครดิตที่แตกต่างกัน มีผลให้อายุความของแต่ละนิติกรรมสัญญาแตกต่างกันออกไปด้วย

ประเด็นปัญหาที่น่าสนใจเกี่ยวกับอายุความของบัตรเครดิต บัตรสินเชื่อส่วนบุคคล บัตรกดเงินสด มีอายุความกี่ปี

1. บัตรเครดิตที่ให้บริการเบิกถอนเงินสดล่วงหน้าด้วย ถือเป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการของบัตรเครดิต จึงมีอายุความ 2 ปี นับแต่วันที่ถึงกำหนดชำระหนี้หรือวันที่ผู้ถือบัตรเครดิตชำระหนี้ครั้งสุดท้าย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193 / 34 (1), (7)

อ้างอิงคำพิพากษาฎีกา 3101/2551 โจทก์ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์และประกอบธุรกิจให้บริการประเภทบัตรเครดิต มีลักษณะเป็นการทำกิจการงานให้บริการอำนวยความสะดวกแก่สมาชิกในการซื้อสินค้าและการใช้บริการ ส่วนการให้สมาชิกเบิกถอนเงินสดล่วงหน้าด้วยบัตรเครดิต เป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการอำนวยความสะดวกดังกล่าว โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบธุรกิจรับทำการงานต่างๆ ให้แก่สมาชิก การที่โจทก์ได้ชำระเงินให้แก่เจ้าหนี้ของสมาชิกแทนสมาชิกไปก่อนก็ดี หรือให้สมาชิกเบิกถอนเงินสดล่วงหน้าแล้วเรียกเก็บเงินจากสมาชิกในภายหลังก็ดี ถือได้ว่าเป็นการเรียกเอาเงินที่โจทก์ได้ออกทดรองไป การฟ้องเรียกเงินทดรองของโจทก์จึงมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7)

2. บัตรเครดิตประเภทสินเชื่อส่วนบุคคล ที่มีข้อตกลงการให้บริการสินเชื่อ ลักษณะเป็นสัญญากู้ยืมเงินที่มีการผ่อนต้นเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยเป็นงวดๆ บัตรเครดิตประเภทนี้จะมีอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (2) ประกอบคำพิพากษาฎีกาที่ 6854 / 2553

...

3. บัตรกดเงินสด ที่มีข้อตกลงการให้บริการสินเชื่อ ลักษณะเป็นสัญญากู้ยืมเงิน แบบไม่ต้องผ่อนต้นเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยเป็นงวดๆ และไม่มีลักษณะเป็นการออกเงินทดรอง บัตรกดเงินสดประเภทนี้จะมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ประกอบคำพิพากษาฎีกาที่ 4088/2560

สุดท้ายนี้ บัตรเครดิตทุกประเภท ต่างมีประโยชน์ ใช้งานง่ายสะดวกสบาย หากมีธุระจำเป็นต้องใช้เงินสด บัตรเครดิตก็สามารถช่วยได้ทันที ไม่ต้องกู้ยืมเงินนายทุนนอกระบบที่มีดอกเบี้ยสูง ไม่ต้องหาคนหรือหลักทรัพย์ มาค้ำประกันด้วย แต่ทั้งนี้ ท่านควรใช้บัตรเครดิตอย่างมีวินัย ใช้เท่าที่จำเป็น จะได้ไม่มีหนี้สะสม ไม่ต้องเสียดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมการกดเงินหรือใช้วงเงินเครดิตครับ

สำหรับท่านที่มีคำถามข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายและต้องการความช่วยเหลือ หรือมีเรื่องราวดีๆ อยากแบ่งปันประสบการณ์ เมลมาหาผมได้ที่ “คุยกับคนดัง” talktoceleb@trendvg3.com ได้เลยครับ