แม้ว่าการแพร่ระบาด “โควิด-19” ในประเทศไทย จะผ่านจุดย่ำแย่ที่สุดไปแล้ว แต่การฟื้นตัวเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนในหลากมิติ ทำให้คนต้องตกงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นเดิม

คาดการณ์ว่า ในปี 2563 อัตราการว่างงานอยู่ในช่วง 3-4% หรือตลอดทั้งปี มีผู้ว่างงานราว 2 ล้านคน ทำให้มีบางส่วนตัดสินใจเดินทางกลับภูมิลำเนา และมีแนวโน้มการตกงานมากขึ้นอีกเรื่อยๆ

เหตุนี้ “รัฐบาล” เห็นถึงความสําคัญของผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทยและภาคเกษตร ในการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคเกษตรกรรมหลังการระบาดของโควิด-19 เพื่อให้สามารถเป็นแหล่งมั่นคงทางอาหาร อาชีพและการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรไทย ตลอดจนการดํารงชีพบนฐานวิถีชีวิตใหม่ ตามแบบวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน

“โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่” น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นแนวทางในการดำเนินงาน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด ในการบรรเทาปัญหาการว่างงาน ลดปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงานในภาคการเกษตรไปสู่ภาคอื่นๆ

...

สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนในท้องถิ่น และความมั่นคงแห่งความอบอุ่นในสถาบันครอบครัว ที่เป็นความสุขตามวิถีชีวิตพอเพียงจะเกิดขึ้นกับชุมชนนี้

แนวทางขับเคลื่อน “1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่” เพื่อบรรเทาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากพิษโควิดนี้ เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตร และสหกรณ์ บอกว่า โครงการนี้นอกจากช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจให้แข็งแกร่งในระยะยาวแล้วยังส่งเสริมเกษตรกรสามารถเลี้ยงตนเอง สร้างรายได้ให้ครอบครัวได้อย่างพอเพียงและยั่งยืนด้วย

เมื่อเกษตรกรมีอาหารเพียงพอต่อการบริโภคภายในครัวเรือน และผลผลิตที่เหลือยังนำมาขายเพื่อช่วยเพิ่มรายได้อีก ด้วยการยึดหลัก “เกษตรทฤษฎีใหม่” ที่มีผลผลิตหลากหลายสามารถตอบสนองความจำเป็นพื้นฐาน ทำให้เกิดความมั่นคงด้านอาหาร ให้เกษตรกรทําการผลิตให้เพียงพอต่อครอบครัว

จนสามารถก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันไม่เสี่ยงเกินไป ลดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจําวัน และลดการพึ่งพาปัจจัยภายนอก ที่มีโอกาสอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว และมีเวลาในกิจกรรมของชุมชน ในการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

ทำให้สามารถช่วยเหลือเกษตรกรที่ว่างงานที่ได้รับผลกระทบปัญหาว่างงาน 32,000 ราย ให้มีอาชีพ และสร้างรายได้ โดยได้รับค่าตอบแทน 9,000 บาทต่อเดือน เป็นการลดปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงานออกจากภาคการเกษตรไปสู่ภาคอื่นๆ ทำให้คุณภาพชีวิตของเกษตรกรดีขึ้นด้วย

อีกทั้งยังสนับสนุนแรงงานคืนถิ่นให้เป็นโอกาสต่อการพัฒนา “ภาคการเกษตร” สนับสนุนให้เข้าถึงแหล่งทุนเพื่อจูงใจให้ไม่ละทิ้งถิ่นฐาน หลังภาวะวิกฤติโควิด-19 เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านอาหารระดับครัวเรือน และสนับสนุนให้เกษตรกรรวมตัวกันทําเกษตรแปลงใหญ่ สร้างประสิทธิภาพการผลิตตามมา...

โครงการนี้เปิดรับสมัครเกษตรกรครอบคลุมพื้นที่ 4,009 ตำบล ใน 75 จังหวัด มีเป้าหมายผู้เข้าร่วมทั้งหมด 96,216 ราย แบ่งเป็นเกษตรกร 64,144 ราย การจ้างงานระดับตำบล 32,072 ราย เน้นเกษตรกรเข้าร่วมจะได้รับการส่งเสริมให้ผลิตในรูปแบบเกษตรทฤษฎีใหม่

ในพื้นที่ 3-5 ไร่ โดยกระทรวงฯ จะสนับสนุนการสร้างแหล่งน้ำ การปรับสภาพพื้นที่ ปัจจัยการผลิตด้านพืช สัตว์ ประมง และส่งเสริมด้านการตลาด

ทว่าหลักเกณฑ์สำคัญ...“ต้องเป็นเกษตรกรทั่วไป” ที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป กรณีอายุเกิน 60 ปี อาจต้องให้อยู่ที่ดุลพินิจของคณะทำงานระดับอำเภอ โดยคำนึงถึงศักยภาพของเกษตรกรในการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ และประโยชน์ของโครงการ โดยเฉพาะการรวมกลุ่มเกษตรกร

ย้ำว่าผู้ที่เข้าร่วมโครงการนี้ต้องเป็นพื้นที่ที่เป็นผืนเดียวกันไม่น้อยกว่า 3 ไร่ และเป็นพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นที่พักเพื่อทำกิจกรรมทางการเกษตรในพื้นที่ โดยเฉพาะต้องยินยอมให้ส่วนราชการใช้เป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบเกษตรทฤษฎีใหม่เพื่อการขยายผลต่อเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 7 ปี

...

ส่วน “ผู้รับจ้างงาน” ต้องเป็นเกษตรกรทั่วไป มีวุฒิการศึกษาไม่ต่ำกว่า ม.3 มีที่พักอาศัยอยู่ในตำบลที่สมัครเข้าร่วมโครงการฯ ที่ไม่ใช่เป็นข้าราชการประจำ หรือข้าราชการบำนาญ รวมทั้งข้าราชการการเมือง ทำหน้าที่สนับสนุนการวางแผนการผลิตแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ของผู้เข้าร่วมโครงการฯ

และปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ในการดำเนินงานภายใต้โครงการฯ ด้วยการจัดเก็บและรวบรวมข้อมูลด้านการเกษตรในพื้นที่ตำบล พร้อมทั้งจัดทำรายงานเสนอสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด

“โครงการนี้เรามุ่งเน้นน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นจุดเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อเดินหน้าฟื้นฟูภาคการเกษตร ภายหลังการระบาดของโควิด-19 ด้วยวิธีการพัฒนาส่งเสริมทำเกษตรกรรมให้มีความมั่นคงเป็นแหล่งอาหารและอาชีพที่ก่อให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้เป็นหลัก”

ก่อนหน้านี้...มีการเปิดรับสมัครในรอบที่ 1 และรอบ 2 ไปแล้ว มีจำนวนผู้สมัครทั้งหมด 65,114 ราย แบ่งเป็นเกษตรกร 33,500 ราย และการจ้างงาน 31,614 ราย เงื่อนปัญหาระดับพื้นที่คุณสมบัติ “เกษตรกร” ในบางประเด็น ทำให้สมัครเข้าร่วมโครงการไม่ได้?

...

เพื่อประโยชน์สูงสุดที่จะเกิดขึ้นกับพี่น้องเกษตรกร และยังคงการดำเนินงานตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ ทำให้มีการปรับแก้ไขคุณสมบัติและได้ขยายเวลารับสมัครรอบที่ 3 ในวันที่ 8-22 ต.ค.2563 คาดว่าจะเริ่มเคลื่อนโครงการ และเริ่มจ้างงานภายใน 30 ต.ค.2563 นี้

เมื่อผ่านการคัดเลือกเข้าโครงการนี้...“ต้องผ่านการอบรมเกษตรกร” ให้มีทักษะตามหลักสูตรหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเกษตรทฤษฎีใหม่ “ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง การปลูกพืช 5 ระดับ” ในการคำนวณพื้นที่เก็บน้ำ การผลิต และเทคโนโลยีการผลิตที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ตามความเหมาะสม

เพื่อประสิทธิภาพในการพัฒนาอาชีพ เสริมองค์ความรู้ และการปรับปรุงคุณภาพดิน ปลูกพืช เลี้ยงปลา เลี้ยงสัตว์ เกษตรกรดำเนินการปรับปรุงคุณภาพดิน ปลูกพืช เลี้ยงปลา...เลี้ยงสัตว์ การห่มดิน และเกษตรกรเข้าร่วมโครงการก็มีบทบาทหน้าที่เป็นศูนย์ถ่ายทอดแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างเกษตรกรรอบบริเวณได้ดีขึ้น

ตามหลัก “เกษตรทฤษฎีใหม่” คือ ระบบการเกษตรที่มีกิจกรรมการผลิตหลายชนิดในพื้นที่ขนาดเล็ก โดยมีการแบ่งสัดส่วนพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน คือ 1.พื้นที่กักเก็บน้ำ 30% 2.พื้นที่ปลูกข้าว 30% 3.พื้นที่ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น 30% และ 4.พื้นที่สิ่งปลูกสร้าง 10% เช่น ที่อยู่อาศัย โรงเรือนเลี้ยงสัตว์ ยุ้งฉาง ฯลฯ

โดยสามารถปรับสัดส่วน พื้นที่ และเพิ่มเติมกิจกรรมการผลิตได้ตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่

อีกทั้งยังจะมีการ “ส่งเสริมการตลาด” ในการสนับสนุนนำผลผลิตเกษตรอินทรีย์มาแปรรูปบรรจุหีบห่อ สร้างแบรนด์จำหน่ายร่วมกัน สร้างตลาดสีเขียวประจำหมู่บ้าน เพิ่มช่องทางการขายกับห้างสรรพสินค้า

...

...สร้างอุตสาหกรรมในครัวเรือนยกระดับเป็นอุตสาหกรรมในชุมชนต่อไป

ตลอดจนการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์และคัดเลือกแปลงตัวอย่างจังหวัดละ 1 แปลง เชื่อมโยงสู่ “การท่องเที่ยวเชิงเกษตร” ด้วย สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจไทยในระยะยาว และชุมชนในท้องถิ่นด้วยวิถีชีวิตพอเพียงให้เกิดมีรายได้แท้จริง...

ตอกย้ำว่า...ถ้าหากเกิดเหตุการณ์วิกฤติเช่นนี้อีกในอนาคต โครงการนี้จะมีประโยชน์เป็นแหล่งผลิตอาหารและอาชีพ สำรองด้วยการเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่น ในการพัฒนาการพึ่งพาและจัดการตนเองด้วยซ้ำ ซึ่งจะทำให้มีความสุขตามวิถีชีวิตพอเพียงจะเกิดขึ้นกับชุมชน ในการช่วยเหลือเกื้อกูลกันแน่นอน

ทั้งหมดเหล่านี้คือ “ศาสตร์” ที่เป็นทางรอดของเกษตรกรไทย มุ่งสู่ “ระบบเกษตรกรรม” อย่างยั่งยืน.