องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือเอฟเอโอ ยอมรับ...แมลงเป็นแหล่งอาหารในอนาคตของโลก สามารถทดแทนแหล่งโปรตีนจากเนื้อสัตว์ เพื่อรองรับประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการฯ ไม่รอช้าวางนโยบายตั้งเป้าให้ไทยเป็น “ฮับแมลงโลก” พุ่งเป้าไปที่จิ้งหรีด แมลงยอดนิยมที่บ้านเรามีฟาร์มเลี้ยงแล้วกว่า 20,000 ฟาร์ม

พร้อมกับให้เร่งส่งเสริมและยกระดับมาตรฐานฟาร์มเลี้ยง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ แล้วตลาดจะไปได้จริงหรือ ที่สำคัญไทยมีความพร้อมหรือยัง เป็นคำถามที่หลายคนตั้งข้อสงสัย???

ข้อมูลล่าสุดจากบริษัท Research and Markets ระบุตลาดแมลงรับประทานได้ทั่วโลก มีอัตราการเติบโตระหว่างปี 2018-2023 ร้อยละ 23.8 และคาดว่าในปี 2023 ตลาดจะมีขนาด 37,900 ล้านบาท

ตลาดเอเชียมีสัดส่วน 30-40% ของทั้งโลก ที่เหลือกระจายตัวอยู่ทั้งในยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา ละตินอเมริกาและอเมริกาเหนือ

ขณะที่ข้อมูลของกรมวิชาการเกษตร พบไทยมีแมลงที่มีคุณค่าทางอาหาร 194 ชนิด เช่น จิ้งหรีด จิ้งโกร่ง ตั๊กแตน หนอน และดักแด้ไหม ปัจจุบันเราถือเป็นตลาดหลักในการส่งออกแมลงไปขายทั่วโลก

และจากการที่ มกอช. ประกาศมาตรฐาน GAP สำหรับฟาร์มจิ้งหรีด ยิ่งทำให้ตลาดส่งออกจิ้งหรีดบ้านเราโตขึ้นอีกถึงปีละ 23% โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ อียู ญี่ปุ่น และจีน

ด้านการเลี้ยง มีการรวมกลุ่มเป็นจิ้งหรีดแปลงใหญ่ 11 แปลง สมาชิก 469 ราย พื้นที่รวมกว่า 848.5 ไร่ ใน 10 จังหวัดกระจายทั่วประเทศ มีกำลังการผลิตรวมกว่า 1.1 พันตัน

ปัจจุบันไทยมีกำลังการผลิตจิ้งหรีดรวมกว่าปีละ 7,000 ตัน ป้อนตลาดภายในและต่างประเทศ ยังไม่รวมดักแด้หนอนไหมจากเกษตรกรหม่อนไหมอีกกว่า 20,000 ราย เป็นอีกตัวเลือกที่กำลังได้รับความนิยม

...

ขณะเดียวกันเป็นที่น่ายินดี เรามีบริษัทสตาร์ตอัพคนไทย ผลิตและทำตลาดผลิตภัณฑ์ผงโปรตีนจากจิ้งหรีดเป็นรายแรกๆของโลก ส่งออกอียู แคนาดา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และมีบริษัทแปรรูปแมลงทยอยเกิดขึ้นตามมา

ปัจจุบันยังมีบริษัทไทยและต่างชาติลงทุนทำฟาร์มเพาะเลี้ยงในหลายพื้นที่ ตั้งโรงงานแปรรูปเพื่อส่งออก มีแบรนด์ของตัวเอง โดยมีฟาร์มที่เชียงใหม่ ขึ้นแท่นเป็นฟาร์มจิ้งหรีดระบบปิด ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

เห็นหรือยัง ไทยเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง.

สะ–เล–เต