“ไก่ดำเป็นที่นิยมบริโภคมานาน ด้วยความเชื่อนำมาตุ๋นตามสูตรยาแพทย์แผนจีนจะช่วยบำรุงสุขภาพ บรรเทาได้สารพัดโรค ตลาดเลยมีความต้องการค่อนข้างสูง มีราคาแพงกว่าไก่ทั่วไป แม้ไก่ดำบ้านเราจะมีให้เลือกหลากหลายสายพันธุ์ แต่กลับยังไม่ค่อยมีสายพันธุ์ที่ตอบโจทย์การเลี้ยงในเชิงพาณิชย์ เราจึงมีแนวคิดพัฒนาสายพันธุ์ไก่ดำที่เหมาะสมกับการผลิตในเชิงพาณิชย์ จนได้เป็นไก่ดำเคยู-ภูพาน เลี้ยงง่าย โตเร็ว ทนต่อสภาพอากาศ ตอบสนองความต้องการของตลาด เป็นทางเลือกใหม่แก่เกษตรกร”

อ.ภานุวัฒน์ คัมภีราวัฒน์ คณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จ.สกลนคร ผู้พัฒนาไก่ดำเคยู-ภูพาน เล่าถึงที่มาของการพัฒนาสายพันธุ์ เริ่มมาตั้งแต่ ปี 2549 จากนั้นในปี 2552 จึงเริ่มเป็นที่รู้จักของชาวบ้าน และนิยมเลี้ยงกันมากขึ้น

ด้วยเป็นไก่ดำที่มีขนสีขาว ต่างจากที่หลายคนเข้าใจว่าไก่ดำขนก็ต้องสีดำ สร้างจุดแปลกแตกต่างจากไก่ที่เคยเห็นมา เลี้ยงได้ทั้งเป็นไก่สวยงามและไก่เนื้อ

มีจุดเด่น ทนต่อสภาพแวดล้อม เปอร์เซ็นต์การสูญเสียค่อนข้างน้อย เลี้ยงง่ายเหมือนกับไก่บ้านทั่วไป...แต่เจริญเติบโตดีกว่า 2 เดือนได้น้ำหนักถึง 1.2-1.5 กก. ตามขนาดที่ตลาดต้องการ ขณะที่ไก่ดำทั่วไปที่ใช้เวลาเลี้ยง 4-5 เดือน

...

นอกจากนั้นยังให้ไข่ดก แม่พันธุ์ให้ไข่ที่อายุ 6-8 เดือน เริ่มผสมพันธุ์ได้ตั้งแต่อายุ 8 เดือนขึ้นไป ใช้เวลาฟักไข่ประมาณ 21 วัน เลี้ยงลูกไป 1 เดือน จึงกลับมาให้ไข่ใหม่

หากเลี้ยงแบบคุมฝูงปล่อยให้พ่อพันธุ์คุมฝูงใช้สัดส่วน ฝูงใหญ่ใช้พ่อพันธุ์ 1 ตัว ต่อแม่พันธุ์ 7 ตัว...ฝูงเล็กพ่อพันธุ์ 1 ตัว ต่อแม่พันธุ์ 3-5 ตัว

ด้านราคา ไก่ดำน้ำหนักมีชีวิต กก.ละ 90–130 บาท ไก่ดำ ชำแหละ กก.ละ 180– 250 บาท ขณะที่ต้นทุนการผลิตจนถึงจับขายเฉลี่ยตัวละ 65–75 บาท จึงทำให้ปัจจุบันไก่ดำเคยู-ภูพานเป็นที่รู้จักและนิยมเลี้ยงกันมากในวง การผู้เลี้ยงไก่ดำขุนเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะใน จ.พิษณุโลก ลำปาง ลพบุรี และนครราชสีมา แต่ไม่ใคร่ได้รับความนิยมในสกลนคร เนื่องจากชาวบ้านนิยมเลี้ยงไก่ดำภูพานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สกลนคร เป็นอาชีพเสริมอยู่ก่อนแล้ว

สำหรับตลาดปัจจุบัน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเลี้ยงเพื่อขายพันธุ์ และเพื่อความสวยงาม ใช้พื้นที่เลี้ยงไม่มาก ไม่เน้นปริมาณไก่ แต่เน้นการผลิตไก่ที่สวยงาม ตรงความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก โดยเฉพาะถ้าได้ลักษณะต้องตรงตามสายพันธุ์ ทั้ง หน้าตา สีขน รูปร่าง จะทำให้มูลค่าสูง ตัวผู้ตัวละ 1,000-1,500 บาท ตัวเมียตัวละ 800-1,000 บาท

ส่วนอีกกลุ่มเลี้ยงเพื่อบริโภคป้อนตลาดเนื้อ กลุ่มนี้มีการรวมกลุ่มผู้เลี้ยงไก่ดำขึ้น เพื่อให้การผลิตไก่ขุนได้จำนวนมากเพียงพอต่อการจัดส่งให้พ่อค้าในแต่ละรอบ

ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า ตลาดไก่ดำจะยิ่งมีความต้องการสูงขึ้น เนื่อง จากที่ผ่านมาหาบริโภคยากมากและมีราคาสูง ประกอบกับกระแสรักสุขภาพ ด้วยคุณประโยชน์สูงกว่าไก่ทั่วไป...มีโปรตีน กรดอะมิโน และสารอาหารอื่นๆ สูงกว่า มีคอเลสเทอรอลต่ำ มีสารเมลานิน ที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ลดโอกาสการเกิดโรคมะเร็ง หัวใจ เบาหวาน ชะลอความแก่ ลดการเกิดฝ้า ลดปวดประจำเดือน มีสารแอนเซอร์รีน และคาร์โนซีน ที่มากกว่าไก่ทั่วไปอยู่ 2 เท่า ช่วยเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ชะลอความแก่ ลดริ้วรอยเหี่ยวย่น บรรเทาโรคเบาหวาน โลหิตจางทำให้ปัจจุบันมีชาวบ้านหลายกลุ่มรวมตัวกันเป็นวิสาหกิจชุมชน นำไก่ดำไปแปรรูป เป็นผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทานหลายอย่าง อาทิ ซุปไก่ดำสกัดแบบผงและน้ำ ไส้กรอกไก่ดำ ลูกชิ้นไก่ดำ ไก่ดำอบรมควัน ไก่เชียง ไก่ยอ เบอร์เกอร์ไก่ดำ สเต๊กไก่ดำ ไก่แผ่นอบกรอบ ไก่หย็อง รวมถึงมีการสกัดสารเมลานิน และคอลลาเจนจากไก่ดำเพื่อไปเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในเครื่องสำอาง สร้างรายได้ให้แต่ละกลุ่มอย่างต่ำเดือนละ 2 แสนบาท

...

หากทำในเชิงพาณิชย์แบบครบวงจร อาจต้องลงทุนสูง เพราะต้องทำเป็นฟาร์มขนาดใหญ่ เลี้ยงตั้งแต่พ่อแม่พันธุ์จนถึงไก่ขุน ถ้าจะให้ได้กำไรมาก ต้องทำโรงชำแหละเอง ซึ่งเกษตรกรทั่วไปทำได้ยาก

แต่สามารถแก้ปัญหาได้ โดยใช้วิธีการรวมกลุ่มกันแบ่งส่วนการผลิต มีกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ผลิตลูกไก่ กลุ่มเลี้ยงไก่ขุนผลิตไก่เนื้อป้อนตลาด กลุ่มชำแหละ ส่วนอีกกลุ่มก็เอาผลผลิตไปแปรรูป สนใจสอบถามได้ที่ 08-1670-7743.

...


กรวัฒน์ วีนิล