อุปกรณ์เซ็นเซอร์ที่สวมใส่ได้ราคาไม่แพงซึ่งสามารถตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจ อุณหภูมิร่างกายตลอดจนระดับน้ำตาลในเลือด รวมถึงผลพลอยได้จากการเผาผลาญในร่างกาย ทำให้นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพตรวจสอบสุขภาพของมนุษย์ได้ในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่ก็มีข้อจำกัดสำคัญคืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ประเภทนี้ต้องการแหล่งพลังงาน และแบตเตอรี่คือหนึ่งในทางเลือก ทว่าก็อาจมีขนาดใหญ่และน้ำหนักมาก
ก่อนหน้านี้มีการสร้างเซ็นเซอร์ที่ตรวจสอบตัวบ่งชี้สุขภาพจากเหงื่อมนุษย์โดยผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชีวเวชจากสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนียหรือแคลเทค ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งผู้เชี่ยวชาญกลุ่มเดิมได้พัฒนาเซ็นเซอร์ตลอดจนแนวทางการขับเคลื่อนใหม่ๆ ให้สวมใส่แบบไร้สายโดยเก็บเกี่ยวพลังงานจลน์ที่เกิดการเคลื่อนไหวจากบุคคลที่ใช้งาน การเก็บเกี่ยวพลังงานทำได้โดยใช้วัสดุบางๆ อย่างเทฟลอน ทองแดง และโพลีอะไมด์ ที่ติดอยู่กับผิวหนังของบุคคลนั้น เมื่อมีการเคลื่อนไหวแผ่นวัสดุเหล่านี้จะถูกับชั้นเลื่อนที่ทำจากทองแดงและโพลีอะไมด์ แล้วก็จะผลิตกระแสไฟฟ้าจำนวนเล็กน้อยเรียกว่าไทรโบอิเล็กทริก (triboelectricity) ที่สอดคล้องกับปรากฏการณ์ไฟฟ้าสถิต เมื่อวัตถุ 2 ชนิดเกิดการเสียดสีก็จะเกิดประจุไฟฟ้าตามมา
อุปกรณ์นี้ไม่ต้องใช้แบตเตอรี่แต่ขับเคลื่อนด้วยการเคลื่อนไหวของมนุษย์ แผงวงจรไฟฟ้าที่ใช้มีความยืดหยุ่นมีจำหน่ายโดยทั่วไป ทั้งราคาถูกและทนทานมาก ที่สำคัญมีความแข็งแรงทางกลไกในระยะเวลานาน.
(ภาพประกอบ Credit : Caltech)