189 คลินิกชุมชนอบอุ่น ถูกยกเลิกสัญญา มีประชาชนได้รับผลกระทบ 2.2 ล้านคน ในเขตกรุงเทพมหานคร หลังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช.ตรวจพบพฤติกรรมทุจริตการเบิกจ่ายเงิน ส่งผลกระทบต่อผู้รับบริการที่ขึ้นทะเบียนกับคลินิกดังกล่าว รวมกว่า 2.2 ล้านคน แต่ละกลุ่มได้รับผลกระทบมากน้อยแตกต่างกัน

และกลายเป็นประเด็นที่สร้างความตื่นตระหนกกับผู้ใช้สิทธิบัตรทอง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ คนยากจน ที่ใช้สิทธิบัตรทองในการเข้ารับบริการในคลินิกใกล้บ้าน

“ทีมข่าวสาธารณสุข” ขอใช้พื้นที่ย้อนรอยการตรวจพบการทุจริตในครั้งนี้ ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจ เพื่อเป็นบทเรียนใช้อุดจุดบอดการใช้บัตรทองในอนาคต

จากการที่ สปสช.ตรวจสอบบัญชีพบความผิดปกติในการเบิกจ่ายการคัดกรองโรคเมตาโบลิคหรือโรคเบาหวาน ความดัน ประมาณเดือน ส.ค.2562 นำไปสู่การยกเลิกหน่วย บริการหรือคลินิกชุมชนอบอุ่น ลอตแรก ซึ่งเป็นคลินิกเวชกรรม 18 แห่ง และคลินิกทันตกรรม 2 แห่ง เมื่อวันที่ 9 ก.ค.63 มีประชาชนได้รับผลกระทบ 2 แสนราย เมื่อตรวจสอบต่อก็พบอีก จึงนำไปสู่การยกเลิก ลอตสอง แบ่งเป็น คลินิกเวชกรรม 63 แห่ง และคลินิกทันตกรรม 3 แห่ง มีผลตั้งแต่วันที่ 18 ก.ย.63 มีประชาชนได้รับผลกระทบ 8 แสนราย และ ลอตสาม แบ่งเป็น คลินิกเวชกรรม 108 แห่ง มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.63 เป็นต้นไป มีประชาชนได้รับผลกระทบ 1.2 ล้านราย

...

รวมมีคลินิกอบอุ่นถูกยกเลิกสัญญาสามลอต แบ่งเป็นคลินิกเวชกรรม 189 แห่ง คลินิกทันตกรรม 5 แห่ง ประชาชนได้รับผลกระทบ 2.2 ล้านคน ทั้งหมด สปสช.ได้ดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์กับกองบังคับการตำรวจกองปราบปราม และกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ ให้ดำเนินคดีทั้งอาญาและทางแพ่ง เพื่อเรียกเงินคืนและยกเลิกสัญญาการเป็นหน่วยบริการ แจ้งสภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการแล้ว

จิรวุสฐ์
จิรวุสฐ์

นายจิรวุสฐ์ สุขได้พึ่ง ประธานอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีหน่วยบริการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพื่อบริการ สาธารณสุขเกินจริง กล่าวว่า “ตัวอย่างรูปแบบ การทุจริต แบ่งได้เป็น 1.การสวมสิทธิผู้ป่วย โดยที่เจ้าของสิทธิไม่ได้มารักษาจริง แล้วนำผลคัดกรองและผลตรวจมาเบิกซึ่งเบิกได้รายละ 400 บาท หรือส่งใบคัดกรองอย่างเดียวเบิกได้ 100 บาท 2.ปลอมแปลงรายชื่อผู้เข้ารับการตรวจคัดกรองและใบตรวจรักษา เช่น ออกตรวจคัดกรองพนักงานบริษัทหนึ่ง จำนวน 100 ราย แต่พบว่าคนเหล่านั้นไม่ใช่พนักงานบริษัท หรือกรณีคลินิกทันตกรรม เบิกเงินอุดฟัน 1 ซี่ 6 ด้าน และระยะเวลาทำฟันก็นานหลายชั่วโมง ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้ 3.การแก้ไขเวชระเบียน ให้เข้าเงื่อนไข เพื่อนำส่งข้อมูลในระบบเพื่อเบิกเงิน”

สำหรับข้อเสนอแนะเบื้องต้นในการป้องกันปัญหานั้น นายจิรวุสฐ์ เสนอว่า “ต้องอุดจุดบอดของระบบการเบิกจ่ายเงิน ซึ่งเป็นช่องโหว่ใหญ่ เพราะไม่มีการแสดงตน เมื่อคลินิกกรอกรายละเอียดเข้าระบบแล้ว สปสช.ก็จะตรวจว่ารายชื่อตรงกับฐานข้อมูลที่ สปสช.มีอยู่ ก็จะโอนเงินให้ เรื่องนี้ สปสช.กำลังเขียนโปรแกรมให้ต้องมีการแสดงตัวตนของผู้ป่วย ขณะเดียวกันได้เสนอให้เพิ่มความถี่ในการสุ่มตรวจคลินิกต่างๆ และทบทวนระบบการขึ้นทะเบียนหน่วยบริการ ที่สำคัญอุดช่องว่างของสัญญาระหว่าง สปสช.และหน่วยบริการ โดยเพิ่มค่าปรับเมื่อทำผิดสัญญา เพิ่มการค้ำประกัน เพราะที่ผ่านมาไม่มีการค้ำประกัน เมื่อเกิดความเสียหาย สิ่งที่ทำได้คือ ชะลอการ จ่ายเงิน หรือฟ้องร้องบังคับคดีเรียกเงินคืน”

นพ.ศักดิ์ชัย
นพ.ศักดิ์ชัย

ขณะที่ นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. กล่าวถึงมาตรการดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกสัญญากับคลินิกในครั้งนี้ ว่า “ผลกระทบครั้งนี้เกิดขึ้นเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สปสช.ได้พบผู้ว่าฯ กทม. และส่งจัดทีมผู้บริหาร สปสช.พบ ผู้อำนวยการเขต ทั้ง 50 เขต ขอความร่วมมือจากอธิบดีกรมการแพทย์ โรงพยาบาลเอกชน เพื่อรองรับผู้ป่วยสิทธิบัตรทองเข้ารับบริการ ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดี ในจำนวนผู้ได้รับผลกระทบ 2.2 ล้านคน เป็นผู้ป่วยเร่งด่วนที่ต้องรักษาต่อเนื่อง 30% เช่น ผ่าตัด ทำคลอด ไตวาย เอชไอวี สปสช.จะประสานผู้ป่วยโดยตรง เพื่อจัดหาสถานพยาบาลให้ ส่วนกลุ่มผู้ป่วยไม่เร่งด่วน หรือผู้ไม่ป่วย 70% นั้น สปสช.กำหนดให้เป็น “สิทธิว่าง” ซึ่งจะได้รับสิทธิพิเศษชั่วคราว ให้เข้ารับบริการในศูนย์บริการสาธารณสุข กรุงเทพฯ 69 แห่ง รพ.สังกัดกรมการแพทย์ทุกแห่ง โรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลเอกชน ไม่จำกัดจำนวนครั้ง จนกว่า สปสช.จะประกาศให้เลือกลงทะเบียน เลือกหน่วยบริการใหม่อีกครั้ง ขณะเดียวกัน สปสช.กำลังรับสมัครหน่วยบริการใหม่รองรับประชาชนให้ได้ 500 แห่ง ภายในวันที่ 1 พ.ย.63 ส่วนการทุจริตในครั้งนี้ เราจะไม่ประนีประนอมกับการทุจริต เรายอมไม่ได้ เพราะเงินทุกบาททุกสตางค์ในกองทุนบัตรทองเป็นเงินภาษีประชาชน ผมยืนยันว่า สปสช.จะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด และจัดหาหน่วยบริการใหม่มารองรับประชาชนภายใน 1-2 เดือน เพื่อให้ระบบบริการสู่ภาวะปกติ”

...

ทีมข่าวสาธารณสุข เห็นด้วยและสนับสนุนเต็มที่กับการเอาจริงเอาจังในการตรวจสอบการทุจริต และการเตรียมระบบบริการแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชน แต่ขอให้ทำอย่างจริงจัง ลากไส้พวกทุจริตออกมาลงโทษตามกฎหมายบ้านเมือง เรียกคืนเงินภาษีของประชาชนมาให้ทุกบาททุกสตางค์

เพื่อเรียกศรัทธาจากประชาชนกลับคืนมาอีกครั้ง.

ทีมข่าวสาธารณสุข