กระแสเรื่องแบนพาราควอต หวนกลับมาเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง คงไม่เล่ากันใหม่ให้เสียเวลา
แต่ประเด็นคือ แม้จะมีนักวิชาการ เกษตรกร ส่งหลักฐานเรื่องการแบนกลับไปที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อพิจารณาทบทวนอีกครั้งตามอำนาจหน้าที่...แม้เวลาล่วงเลยมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย กลับยังไม่มีการเรียกคณะกรรมการประชุมแต่อย่างใด
ตรงกันข้ามกลับมีเวทีค้านการแบนเกิดขึ้นเรื่อยๆ หลังหลายฝ่ายเห็นตรงกัน พาราควอตจำเป็นอย่างยิ่งต่อการกำจัดวัชพืช เพราะยังไม่มีสารเคมีตัวใดทดแทนได้ ทั้งในเรื่องประสิทธิภาพและราคาที่ถูกกว่า
เวทีเสวนา “เคมี พระเอก หรือผู้ร้าย” จัดขึ้นโดยกลุ่มอุตสาหกรรมเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตั้งข้อสังเกตหลายเรื่อง โดยเฉพาะกับการตั้งแง่ มองเคมีแต่ด้านเป็นพิษ ทั้งที่เราต้องใช้ชีวิตกับสารเคมีมาตั้งแต่วินาทีที่ก่อกำเนิดในครรภ์ แถมยังต้องใช้ชีวิตกับเคมีตลอดเวลา...ฉะนั้น สารเคมีทุกอย่างขึ้นกับใช้ถูกวิธี ถูกที่ ถูกเวลา และเหมาะสมหรือไม่
รวมถึงประเด็นการผ่อนผันให้นำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศที่ยังใช้พาราควอต และมีค่าตกค้างไม่เกินค่ามาตรฐาน CODEX ไปจนถึง 1 มิ.ย.64 ทั้งที่ในประเทศแบนเด็ดขาด ห้ามขาย ห้ามมี ห้ามใช้ ตั้งแต่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา
สรุปว่า ตกค้างไม่เกินมาตรฐานไม่อันตราย หรือไม่ควรมีค่าตกค้างเลยกันแน่...เพราะถ้าอันตรายถึงขั้นแบนเช่นนี้ ยังนำเข้ามาให้คนไทยบริโภคได้อย่างไร
และประเด็นที่ขาดไม่ได้ เหตุใด กรมวิชาการเกษตร จึงเร่งรีบแบนแบบผิดสังเกต ไม่เป็นไปตามขั้นตอนปกติ...แถมยังแนะนำให้ใช้กลูโฟซิเนต ทั้งที่แพงกว่าหลายเท่าตัว และประสิทธิภาพไม่เท่าพาราควอต
...
เวทีเสวนาชี้ทางออก...ควรให้ความรู้ความเข้าใจการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชแก่เกษตรกร และสนับสนุนแนวทางจีเอพี ขณะเดียวกัน ควรผ่อนผันให้เกษตรกรใช้ไปก่อนจนถึงปีหน้า ภายใต้มาตรการจำกัดการใช้
ระหว่างนี้ให้ตั้งคณะทำงานสองฝ่าย ร่วมทบทวนหลักฐานที่ใช้ประกอบการแบนพาราควอต ว่าถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือหรือไม่...ไม่ใช่ใช้มโนศาสตร์ตามความอยากของฝ่ายที่แอบแฝงผลประโยชน์อย่างอื่นที่ซ่อนเร้น.
สะ–เล–เต