การแบนสารพาราควอต เริ่มบานปลายขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับความเสียหายของเกษตรกร ขณะที่หลักฐานใหม่จากการรวบรวมของเกษตรกรและนักวิชาการเกษตร ถูกนำไปยื่นต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อให้พิจารณาทบทวนการแบน มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
บางหลักฐานมาจากหน่วยงานกระทรวงสาธารณสุขเอง เว็บไซต์กรมสารสนเทศ สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยแพร่เมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา ถึงการสุ่มตรวจผักผลไม้จากตลาด 41 จ.ทั่วประเทศ โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผลคือ ไม่พบพาราควอตตกค้างแต่อย่างใด
นี่ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร เพราะเกษตรกรรู้อยู่แล้ว ใครที่ไหนจะบ้าเอาพาราควอตไปฉีดผักให้เหี่ยว...แต่ที่น่าแปลกใจคือ เหตุใดลงเว็บได้แป๊บเดียวถึงลบข่าวทิ้งซะงั้น เป็นเพราะขัดกับนโยบาย ของนักการเมือง หรือกลัวใครเขาจะรู้ความจริง ดีนะที่มีคนแคปหน้าจอไว้ได้ก่อน
อีกหลักฐานล่าสุด บนเวทีเสวนา “เคมี พระเอก หรือผู้ร้าย” จัดโดยกลุ่มอุตสาหกรรมเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับนักวิชาการจากหลากหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน
ระบุถึงรายงานการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชย้อนหลัง 10 ปี (2550—2560) ใน 156 ประเทศทั่วโลก ขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)
ปรากฏว่า ไทยใช้สารเคมีเป็นอันดับ 55 ของโลก ใช้เฉลี่ย 0.38 กก./ไร่ น้อยกว่าอันดับ 5 ญี่ปุ่น ประเทศที่เจริญก้าวหน้าด้านการเกษตร ใช้เฉลี่ย 1.92 กก./ไร่ แล้วเช่นนี้คำว่า...แผ่นดินอาบสารพิษ ลวงโลกหรือไม่
อีกหลักฐานที่ชวนสงสัยไปเอาข้อมูลมาจากไหน...งานวิจัยที่บอกว่าพาราควอตตกค้างในทารก เป็นงานวิจัยอ้างทำร่วมกับโรงพยาบาล 3 แห่ง รพ.พหลพลพยุหเสนา จ.กาญจนบุรี, รพ.สวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์ และ รพ.อำนาจเจริญ
...
แต่เมื่อสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย สอบถามไปยังโรงพยาบาลทั้ง 2 แห่ง...รพ.พหลพลพยุหเสนา รพ.สวรรค์ประชารักษ์ ปฏิเสธว่าไม่เคยให้ข้อมูล ส่วน รพ.อำนาจเจริญ บอกว่าสืบค้นข้อมูลไม่ได้
แล้วอย่างนี้จะบอกว่าเป็นการเสกสรรปั้นข้อมูลเองได้หรือไม่ ...ในเมื่อโรงพยาบาลเขาไม่รู้ไม่ชี้ด้วย.
สะ–เล–เต