เรื่องราวการแบนพาราควอต สารกำจัดวัชพืช กลับมาเป็นข่าวอีกครั้ง เมื่อเกษตรกรและนักวิชาการเกษตรได้ยื่นหลักฐานใหม่ให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายทบทวนพิจารณาการแบน ที่ชี้ว่าการตกค้างในสิ่งแวดล้อมไม่ได้เป็นอย่างที่ฝ่ายสาธารณสุข และเอ็นจีโอเอ่ยอ้าง
โดยเฉพาะการอ้างพบพาราควอตตกค้างในไร่นา ต.บุญทัน อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู...จนทำให้ชาวบ้านป่วยด้วยโรคเนื้อเน่าปีละ 50 คน บางคนถึงกับต้องตัดขาทิ้ง
ทั้งที่วงการแพทย์ระบุโรคนี้เกิดจาก...แบคทีเรียกินเนื้อคน (Aeromonas hydrophila)
แต่ไม่วายมีการยกงานวิจัยมาอ้าง สาเหตุมาจากพบ พาราควอตตกค้างในแหล่งน้ำสูงถึง 55.41 ppm. ชาวบ้าน ถึงได้เป็นโรคเนื้อเน่า
จน สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย อดรนทนไม่ไหว ต้องบุกไปเก็บตัวอย่างดินและน้ำมาตรวจวิเคราะห์พิสูจน์ ปรากฏว่า...ไม่พบการตกค้างของพาราควอตแต่อย่างใด พบแต่เชื้อแบคทีเรียกินเนื้อคน
ที่สำคัญนักวิจัย สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย ยังพบข้อสงสัยอีกประการ...แหล่งน้ำที่งานวิจัยชิ้นนี้อ้างว่ามีพาราควอตตกค้างปนเปื้อนสูงถึง 55.41 ppm.
พาราควอตเป็นสารกำจัดวัชพืช แต่ทำไมแหล่งน้ำนั้นถึงมีวัชพืชน้ำขึ้นงอกงามเขียวขจีเต็มแหล่งน้ำ...ถ้าพาราควอตตกค้างมากขนาดนั้น วัชพืชจะต้องเหี่ยวเฉาตาย ทำให้แหล่งน้ำเน่าเสียไปหมดแล้ว
เพื่อคลายข้อสงสัย นักวิจัยจึงเอาผักตบชวา แหน สาหร่ายพุงชะโด ที่มีในแหล่งน้ำนั้น มาทดลองเลี้ยงในน้ำที่ปนเปื้อนพาราควอตเข้มข้นตั้งแต่ 0, 1, 2, 4, 8, 10, 20, 50 และ 100 ppm. ว่าผลจะเป็นเช่นไร
แค่วันเดียว ในน้ำที่มีพาราควอตเข้มข้นแค่ 4 ppm. วัชพืชเหล่านั้นเริ่มเหี่ยวเฉา และตายตามมา...ไม่ต้องเข้มข้นมากถึง 55 ppm.
เลยมีคำถามที่ต้องการคำตอบ...งานวิจัยที่ยกขึ้นมาอ้างเพื่อแบนสารเคมีเกษตรทั้งหมดมีมาตรฐานให้เชื่อได้แค่ไหน.
...
สะ-เล-เต