การสร้าง “ความมั่นคงด้านน้ำ” ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการพัฒนาแหล่งน้ำใหม่ๆ ขึ้นมา ยังต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนา “แหล่งน้ำธรรมชาติ” ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ

เพราะไม่เพียงจะเป็นแหล่งเก็บกักน้ำชั้นดีเพื่อเอาไว้ใช้ในฤดูแล้งเท่านั้น แต่ยังช่วยเป็นพื้นที่รับน้ำในยามน้ำหลาก ช่วยป้องกันน้ำท่วมได้อีกด้วย

“น่าเสียดายในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา แหล่งน้ำธรรมชาติในประเทศจำนวนมากต้องประสบปัญหาการบุกรุกทำลาย ขาดการดูแลรักษาโดยเฉพาะแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เช่น บึงบอระเพ็ดบึงสีไฟ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการบริหารจัดการน้ำ”

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เผยถึงการฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติ ที่รัฐบาลมอบหมายให้ สทนช. เป็นหน่วยงานหลักบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆมาตั้งแต่ปี 2561

การเร่งรัดการฟื้นฟู “บึงบอระเพ็ด” จ.นครสวรรค์ เพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำในช่วงฤดูแล้งและฤดูฝนโดยเร่งด่วน...ปัจจุบัน กรมประมง และกรมชลประทานได้ขุดลอกตะกอนและเคลื่อนย้ายมูลดินจากการขุดลอกออกจากพื้นที่ใกล้แล้วเสร็จแล้ว จะช่วยให้เพิ่มประสิทธิภาพในการรองรับน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ มากขึ้น และทันกับสถานการณ์น้ำหลากที่กำลังจะมาถึงในปีนี้พอดี

...

นอกจากนั้นยังเร่งฟื้นฟู “บึงสีไฟ” จ.พิจิตร แหล่งน้ำจืดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของ ประเทศ แต่ประสบปัญหาน้ำตื้นเขินมานานหลายปี แม้ที่ผ่านมาจะมีหน่วยงานมาขุดลอก แต่ยังไม่ได้เคลื่อนย้ายดินที่กองไว้จนกลายเป็นภูเขารอบบึง เป็นอุปสรรคต่อการกักเก็บน้ำ

การลงไปตรวจสอบพื้นที่ด้วยตัวเองของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการ กอนช. ได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไข ปัจจุบันมีการประมูลขายมูลดินได้แล้วทั้งหมด และเร่งขุดลอกตะกอนดินที่เหลืออีกประมาณ 700,000 คิว ให้แล้วเสร็จตามแผนภายในเดือนกันยายนนี้ จะส่งผลให้บึงสีไฟเก็บกักน้ำได้ถึง 12 ล้าน ลบ.ม. จากเดิมที่ทำได้ 4 ล้าน ลบ.ม.

เช่นเดียวกับ “บึงราชนก” จ.พิษณุโลก สทนช.ได้เข้าไปบูรณาการแผนการฟื้นฟู ซึ่งมีทั้งสิ้น 4 ด้าน จำนวน 11 แผนงาน 23 โครงการวงเงิน 1,456.980 ล้านบาท และขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมเสนอ ครม. อนุมัติแผนพัฒนา “หนองหาร” จ.สกลนคร ปี 2563-72 วงเงิน 7,445.22 ล้านบาท มีแผนงาน 5 ด้าน 65 โครงการ หลังจาก ครม. ให้ความเห็นชอบก็สามารถดำเนินการได้ทันที

ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “โรดแม็ป” การฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อดึงศักยภาพในการสร้างความมั่นคงด้านน้ำ บรรเทาผลกระทบจากน้ำท่วมและภัยแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ.

ชาติชาย ศิริพัฒน์