จิ้งหรีดแหล่งโปรตีนทางเลือกใหม่ของชาวโลก ทำให้ปัจจุบันมีการค้าขายจิ้งหรีดในสารพัดรูปแบบ ทอด คั่ว บรรจุกระป๋อง บดเป็นผงแป้ง นำไปเป็นส่วนผสมในอาหารที่หลากหลาย

“จิ้งหรีดเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ที่มีอนาคต เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ที่สำคัญจิ้งหรีดเป็นสัตว์ที่เลี้ยงใช้น้ำน้อย ต้นทุนการผลิตต่ำ เลี้ยงง่ายแค่ 45 วัน สามารถเก็บเกี่ยวรายได้ เหมาะกับการส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้เกษตรกรในช่วงวิกฤติโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี”

นางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวถึงศักยภาพความเป็นไปได้ของตลาด จึงเร่งส่งเสริมการเลี้ยงจิ้งหรีดในรูปแบบแปลงใหญ่ ผลักดันการเปิดตลาด ขยายการส่งออกมุ่งเป้าไปยังสหภาพยุโรป และเม็กซิโกซึ่งเป็นตลาดใหม่

จากการลงพื้นที่ของ นายครรชิต สุขเสถียร รองเลขาธิการ มกอช. เพื่อติดตามความก้าวหน้าการส่งเสริมการยกระดับการเลี้ยงจิ้งหรีด GAP ภายใต้นโยบายการเกษตรแบบแปลงใหญ่ในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย และจัดสัมมนาเรื่อง “รู้ขั้นตอนการส่งออก ยกระดับจิ้งหรีดไทย” ให้ได้มาตรฐาน มกษ. 8202–2560 (GAP ฟาร์มจิ้งหรีด) ติวเข้ม ทั้งเกษตรกรและผู้ประกอบการเพื่อเตรียมพร้อมในการเจาะตลาดโลกที่กำลังมีแนวโน้มสดใส

...

“มาตรฐานฟาร์มจิ้งหรีด มกษ.8202-2560 เป็นมาตรฐานทั่วไป เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อความปลอดภัยของผลิตผลจากจิ้งหรีด โดยมีกรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการตรวจรับรองตามมาตรฐานฟาร์มจิ้งหรีด ทั้งสายพันธุ์ทองดำ ทองแดง และสะดิ้ง ซึ่งปัจจุบันมีกำลังการผลิตรวมมากกว่า 7,000 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าประมาณปีละ 1,000 ล้านบาท”

สำหรับประเทศเม็กซิโก ตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ นายครรชิต บอกว่า มกอช. ได้ร่วมกับกรมปศุสัตว์ เร่งดำเนินการขอเปิดตลาดรายการสินค้าผงแป้งจิ้งหรีดและจิ้งหรีดแช่แข็ง (สะดิ้ง) ของไทย กับหน่วยงานเกษตรและอาหารของเม็กซิโก (SENASICA) ไปเรียบร้อย ขณะนี้อยู่ในระหว่างรอการพิจารณาและการตอบกลับจากทางเม็กซิโก

ด้าน นางสาวชุติกาญจน์ เจื้อยแจ้ว ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงจิ้งหรีดแปลงใหญ่ ชุติกาญจน์ ต.ท่าชัย อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย กล่าวว่า ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งสิ้น 36 ราย มีการเลี้ยงจิ้งหรีดในระบบโรงเรือนทั้งแบบปิด และแบบเปิด ผ่านการรับรองมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีด GAP ปัจจุบันตลาดส่วนใหญ่เป็นตลาดต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก สวิตเซอร์แลนด์ ฯลฯ ส่วนลูกค้าในประเทศ จะเน้นการจำหน่ายทางออนไลน์ ทั้งปลีก-ส่ง

“สินค้าของเราเน้นการแปรรูป ได้แก่ ผงโปรตีนจากจิ้งหรีด 100% จิ้งหรีดอบกรอบปรุงรส ข้าวเกรียบ คุกกี้ และน้ำพริก ทำให้กลุ่มมีรายได้เฉลี่ยเดือนละประมาณ 1.6 ล้าน หรือปีละ 19.2 ล้าน แต่ปริมาณยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด โดยเฉพาะผงโปรตีนจากจิ้งหรีด ร้อยละ 90 จะส่งออกต่างประเทศ มีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่จำหน่ายภายในประเทศ”.

ชาติชาย ศิริพัฒน์