สิทธิในการ บอกกล่าว “ความเห็น” และ “การขอกำหนดอนาคตตนเอง” ของคนอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา บันทึกบอกเล่าไว้โดย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้เปลี่ยนหลังคาโรงพยาบาลให้เป็นหลังคาโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้า และถูกยกให้เป็นเอ็นจีโอแห่งจะนะ
“ประชาธิปไตย” ไม่ใช่เพียง “การเลือกตั้ง” แต่คือการเคารพในสิทธิและเสียงของประชาชน เมื่อประชาชนเดือดร้อนก็ต้องส่งเสียง ยิ่งมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินปิดกั้น การจะมากันมากๆก็ย่อมไม่ง่าย
เมื่อมีการผลักดันนิคมอุตสาหกรรม 16,753 ไร่ พร้อมโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่มาก 3,700 เมกะวัตต์ และท่าเรือน้ำลึกอีก 3 ท่า ที่จะมาผุดในอำเภอจะนะ ผลกระทบต่อทะเล วิถีชีวิต สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ มากมาย โดยที่คนพื้นที่ยังรู้ข้อเท็จจริงน้อย มีอำนาจรัฐกดทับ อำนาจทุนแจกสะพัด การมีส่วนร่วมเป็นเพียงพิธีกรรม
ที่ทำกันได้เพียง...เชิญพี่น้องคนไทยทั้งประเทศ ติดตามการเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องชุมชนอันสงบ ปกป้องอากาศดี ปกป้องทะเลสมบูรณ์ ปกป้องชายหาดขาว ปกป้องวิถีชีวิตอันงดงามและปกป้องสุขภาพที่มีค่า
...
“แผ่นดินจะนะก็แผ่นดินไทย พี่น้องจะนะก็คือคนไทย เสียง สนับสนุนและกำลังใจจากคนไทยทั่วประเทศ ส่งให้คนจะนะสู้กับรัฐเผด็จการและทุนละโมบ นี่จึงจะมาถึงซึ่งชัยชนะในการปกป้องจะนะ และปกป้องอุดมการณ์ประชาธิปไตย”
“จะนะ”-“ม่วงงาม” ชะตากรรมเดียวกันเพราะรัฐไร้ธรรมาภิบาล
“หาดม่วงงาม”...อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา เป็นหนึ่งใน ชายหาดตรงยาวใหญ่สมบูรณ์ที่สวยงามที่สุดของคาบสมุทรสทิงพระ วันดีคืนดีกรมโยธาธิการและผังเมืองก็มาสร้างกำแพงกันคลื่น อ้างว่าได้ทำการรับฟังความเห็นมาเรียบร้อยไม่มีใครค้าน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านใครจะไปกล้าค้านนโยบายของรัฐ
กว่าประชาชนส่วนใหญ่จะรู้เรื่องก็เมื่อรถจักรกลหนักลงมาขุดหาด เอาคอนกรีตมาเททำลายผืนทรายไปมากพอควรแล้ว
ชาวบ้านออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย แต่โครงการก็ยังไม่รู้ไม่ชี้เดินหน้าต่อไป กะจะอึดๆสร้างให้เสร็จ ต้องใช้งบให้หมด หยุดกลางคันไม่ได้ เพราะข้อตกลงหลายอย่าง สัญญาหลายประการทั้งลับและเปิดเผยได้ตกลงกันไว้เรียบร้อยแล้ว เดินหน้ากันแบบประหนึ่งว่า หาดพังไม่ว่า ขอให้ข้าได้ทำโครงการจนแล้วเสร็จ?
วันนี้...หาดม่วงงามยังสวยงาม การกัดเซาะมีน้อยมาก หยุดสร้างกำแพงกันคลื่น เอาเงินงบประมาณนั้นไปเยียวยาพี่น้องคนไทยคนละ 5,000 บาทเพิ่มเติมให้ครบถ้วนไม่ดีกว่าหรือ ไม่ต้องรีบสร้าง หากรัฐเป็นรัฐธรรมาภิบาลจริงก็ควรจัดวงคุยถกกันให้รู้เรื่องก่อน แล้วจึงเดินหน้าต่อ หรือหยุดโครงการน่าจะดีกว่า
ที่ “อำเภอจะนะ” ก็เช่นกัน จะมีการสร้างนิคมอุตสาหกรรมร่วม 20,000 ไร่ ครม.มีมติอนุมัติในหลักการในวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 โดยที่คนจะนะแทบไม่มีใครรู้เรื่อง พอมีผังเมืองสีม่วงซึ่งบอกว่าเป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาให้เห็น ชาวบ้านจึงเริ่มรู้ความจริง
“รัฐ” ก็รีบจัด “เวทีรับฟัง” ในสามตำบลคือ ตลิ่งชัน นาทับ สะกอม ปิดกั้นให้คนเข้าร่วมได้คือ คนตำบลนั้นๆ คนตำบลจะโหนง ตำบลคลองเปียะ ตำบลป่าชิง ตำบลบ้านนา ที่รั้วหมู่บ้านก็ติดพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมกลับไม่มีพื้นที่รับฟัง....นักวิชาการ คนสงขลา คนหาดใหญ่ก็นับเป็นคนนอกไม่ต้องรับฟังเขา
ราวกับ...อากาศ น้ำเสีย มลพิษ จะไม่รั่วไหลออกนอกพื้นที่สามตำบล
เช่นนี้คือการรับฟังความเห็นแบบพิธีกรรม ทำให้ครบ ทำให้เสร็จ เพราะนายทุนได้ลงทุนกว้านซื้อที่ดินไปมากแล้ว จ่ายไปมากแล้ว หรือมีใครไปรับปากนายทุนอะไรบ้างก็ไม่รู้ไปมากมายแล้วหรือเปล่า?
คำถามเหล่านี้ผุดขึ้นมามากมายต่อเนื่อง...และเมื่อเวทีการรับฟังความเห็นประชาชนไม่ใช่พื้นที่กลางที่ประชาชนจะคาดหวังความเป็นธรรมได้ คนม่วงงามกับคนจะนะจึงอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน
“เราเป็นพลเมืองแห่งรัฐที่มีสองทางเลือก เป็นเด็กดีเชื่อฟังรัฐเขาให้ 5,000 ก็รับไว้ เขาให้กำแพงกันคลื่นก็รับมา อยู่ไปทำมาหากินไปตามมีตามเกิด หรือเราจะเป็นเด็กดื้อออกมาปกป้องบ้านเกิด
...
แต่แน่นอนว่าชีวิตเราจะเหนื่อยยาก เพราะอำนาจรัฐจะถาโถมมาสู่ชุมชนหรือกลุ่มของเรา นี่คือโจทย์ภาคพลเมืองคนสงขลาในวันนี้”
แล้วคนอำเภอเมืองสงขลา อำเภอหาดใหญ่ จะไม่ช่วยกันหาคำตอบหรือทางออกกันบ้างหรือ
“ผังเมือง” คือ “ผังชีวิต” คือข้อตกลงการใช้ชีวิตร่วมกันของคนในจังหวัด ผังเมืองรวมสงขลาปี 2559 เป็นผังเมืองรวมที่ผ่านการทำมาอย่างถูกต้อง และมีส่วนร่วมในทุกอำเภอ อำเภอละหลายๆครั้ง
...มีการปรับการแก้การต่อรองจนเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย
คนสงขลาเห็นชอบร่วมกัน จึงประกาศใช้เป็นผังเมืองรวมจังหวัดสงขลาปี 2559 ซึ่งพื้นที่อำเภอจะนะนั้นมีเขียวขจี ไม่มีสีม่วงหรือนิคมอุตสาหกรรมแต่อย่างใด
นพ.สุภัทร บอกว่า ที่ผ่านมาก็มีผังเมืองเมืองใหม่หลุดออกมา สีม่วงเต็มพรึบในพื้นที่สามตำบลริมทะเลของอำเภอจะนะ งุบงิบลงสีผังเมืองเป็นสีม่วงตามแปลงที่ดินที่นายทุนครอบครองหรือหมายปองหรือเปล่า? แล้วเอามารับฟังความคิดเห็นประชาชน จัดเวทีเล็กๆในหมู่บ้าน ตำบลละสามครั้ง ให้เข้าจำนวนจำกัดเพราะการต้องเว้นระยะห่างจากโควิด และมีประกาศไม่ให้คนนอกพื้นที่ตำบลนั้นเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น
...
จึง...เข้าข่ายกระบวนการรับฟังที่เป็นพิธีกรรม ทำย้อนหลังให้ครบถ้วนเท่านั้น
การเปลี่ยนสีผังเมืองคือขั้นตอนสำคัญในการเปลี่ยนจะนะให้เป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม หากไม่มีผังเมืองสีม่วงมารองรับ ก็ไม่สามารถสร้างนิคมอุตสาหกรรมได้
นี่จึงเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่ต้องใช้ทุกกระบวนท่าให้ผ่านตามขั้นตอนกฎหมายให้ได้
โปร่งใสตรงไปตรงมาไม่เป็นไร แต่อย่าให้ใครเขาว่าได้ว่า... ธรรมาภิบาลไม่ต้องมี ความชอบธรรมไม่ต้องสน หรือทำกันอย่างลักๆ ซ่อนๆ อย่าให้ชาวบ้านเขาเรียกว่าทำเหมือน “โจร” เลยนะครับ
มองให้รอบด้านต่อโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ...ที่ต้องช่วยกันปกป้อง เพราะ หนึ่ง...การเห็นชอบเดินหน้านิคมอุตสาหกรรมนี้ ใช้การประชุมแบบลักไก่ เอาเข้า ครม.ในนัดสุดท้ายก่อนหมดอายุ คสช.
สอง...นิคมอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้าและท่าเรือน้ำลึกเป็นของเอกชนรายเดียว แต่ ศอ.บต.มาผลักดันโดยใช้งบภาษีประชาชนมาจัดเวทีประชาสัมพันธ์ หรืออาจมีมากกว่านี้ แต่ยังหาหลักฐานไม่พบ
บรรยากาศที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นและรู้สึกชัดเจนเหลือเกินว่า... การจัดการมีส่วนร่วมก็เป็นเพียงพิธีกรรม จัดเวที 3 ชั่วโมง เพื่อเปลี่ยนจะนะไปตลอดกาล ที่สำคัญ...จัดเวทีรับฟังในช่วง พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะแสดงออกคัดค้านก็อาจถูกทหาร ตำรวจเล่นงานถึงติดคุก
แน่นอนว่า...ชุมชนไม่ได้ต้องการการพัฒนาแบบยัดเยียด “ชุมชนจะนะ” ต้องการการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่คนในชุมชนได้ร่วมออกแบบอนาคตของตนเอง
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่อเค้าลางว่า อย่างไรเสีย “นิคมอุตสาหกรรมจะนะ” ก็ต้องเกิด ถูกสร้างแน่ๆ “คนไทย” ทั้งประเทศต้องช่วยกันจับตารวมพลังต้านความไม่โปร่งใสพลังใต้ดินเหล่านี้ให้หมดไป
#SAVECHANA หากคนไทยไม่ช่วยกัน อนาคตจะนะก็คงไม่เหมือนวันวาน.
...