ผมเห็นด้วยกับนายสุชาติ ไตรแสงรุจิระ ทปษ. รมว.อุตสาหกรรม ที่ผลักดันและส่งเสริมพืชกัญชงในภาคอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถที่จะเข้าไปแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ ยุโรป และเอเชีย ผมขอเรียนเพิ่มเติมว่ากัญชงให้ประโยชน์ 2 อย่าง อย่างแรกคือให้สารสกัด CBD ที่เป็นประโยชน์ในวงการแพทย์ อย่างที่สองคือเส้นใยกัญชงซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่ได้รับความนิยมสูง

ผมขอสนับสนุนให้มีการพัฒนากัญชงแต่ละสายพันธุ์และปรับปรุงพันธุ์ให้เป็นเส้นใยกัญชงไทย ด้วยความเชื่อที่ว่ากัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีอนาคต เพราะใช้ทั้งเป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอและใช้ในการแพทย์

ความสนใจในกัญชงทำให้ผมได้รับการติดต่อจากนายลีโอ หยู ประธานบริษัท ยูนนาน เฮมพ์มอน ฟาร์มาซูติคอลส์ จำกัด ให้เดินทางไปดูโรงงานสกัดสาร CBD จากกัญชงที่กำลังก่อสร้างในนิคมอุตสาหกรรมคุนหมิง มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีนถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกเดือนพฤษภาคม 2562 และครั้งที่สองเดือนสิงหาคม 2562

ในเดือนพฤษภาคม 2562 นอกจากไปดูสถานที่ก่อสร้างโรงงานแล้ว นายหยูยังพาผมนั่งทั้งรถไฟความเร็วสูงและรถยนต์ไปตระเวนดูการปลูกกัญชงใน 12 ตำบลของอำเภอฝูเจ๋อเฮย มณฑลยูนนาน พอถึงเดือนสิงหาคม 2562 ผมเดินทางไปดูแปลงกัญชงที่ตำบลจานอี้ อำเภอฉวีจิ้ง มณฑลยูนนาน และได้ไปใช้ชีวิตช่วงหนึ่งกับพี่น้องเกษตรกรจีนผู้ปลูกกัญชงด้วย

มหาวิทยาลัยชิงหัวมีงบวิจัยและพัฒนาในเรื่องการสกัดสาร CBD และสารอื่นจากพืชปีละ 1 หมื่นล้านหยวนหรือประมาณ 5 หมื่นล้านบาท มหาวิทยาลัยชิงหัวถือหุ้นในบริษัทยูนนานฯ ร้อยละ 61 ซึ่งบริษัทนี้เป็นเจ้าของโรงงานสกัดสารจากกัญชงที่คาดว่าจะสามารถผลิตสาร CBD ได้ตั้งแต่ปีละหลายสิบตันไปจนถึงมากที่สุด 200 ตันต่อปี

...

โรงงานมีทั้งหมด 2 เฟส เฟสแรกใช้เงินก่อสร้างเบื้องต้น 2 พันล้านหยวนหรือเกือบ 1 หมื่นล้านบาท เฟสสองจะขยายพื้นที่อีก 2 แปลง รวมแล้วเป็นการลงทุนทั้งหมดเกือบ 3 หมื่นล้านบาท

รัฐบาลจีนไม่อนุญาตให้ปลูก ‘กัญชา’ และสาร THC เป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่อนุญาตให้ปลูก ‘กัญชง’ ได้ในบางมณฑล ทราบว่าขณะนี้มี 2 มณฑลที่ได้รับอนุญาตแล้วคือมณฑลเฮย์หลงเจียง และมณฑลยูนนาน สำหรับมณฑลจี๋หลินนั้น คาดว่าจะได้รับการอนุญาตต่อไปในอนาคตอันใกล้

เป้าหมายการปลูกกัญชงของมณฑลยูนนานคือการผลิตสาร CBD ส่วนเป้าหมายของมณฑลเฮย์หลงเจียงคือการปลูกเพื่อนำมาใช้ทำเส้นใย อาหาร และเมล็ดพันธุ์ คนจีนใช้ผ้าที่ทอจากเส้นใยกัญชงมานานแล้ว ความแข็งแรงของเส้นใยและสามารถดูดซับความชื้นได้ดีกว่าผ้าฝ้ายและไนลอน ให้ความอบอุ่นมากกว่าผ้าลินิน ผ้าที่ทำจากกัญชงให้ความรู้สึกเย็นสบายในหน้าร้อน และความอบอุ่นในหน้าหนาว ยิ่งซักยิ่งนุ่ม ไม่มีกลิ่นอับ ไม่ชื้น และไม่ขึ้นรา

เสื้อผ้าที่ทอจากเส้นใยพืชประเภทอื่นป้องกันแสงยูวีได้ร้อยละ 30-50 แต่เสื้อผ้าที่ทอจากเส้นใยกัญชงป้องกันแสงยูวีได้เกือบร้อยละ 100 เป็นฉนวนกันไฟฟ้า ป้องกันไฟดูด แม้จะอยู่ในอุณหภูมิที่สูงถึง 370 องศาเซลเซียสก็ไม่เปลี่ยนสี แบคทีเรียไม่สามารถจะเติบโตได้ในเส้นใยกัญชง เมื่อใช้ผ้าจากเส้นใยกัญชงห่อเนื้อสด เนื้อจะอยู่ได้นานเป็น 2 เท่าของเนื้อที่ห่อด้วยผ้าที่ทอด้วยเส้นใยพืชประเภทอื่น รองเท้าที่ทำจากเส้นใยกัญชงสามารถป้องกันโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อราได้

ถ้าจะนำมาทำเส้นใย กัญชงยังไม่ทันออกดอกต้องรีบตัด ถ้าจะนำมาทำอาหาร ก็ต้องปล่อยให้ออกดอกและมีเมล็ด นอกจากนำเมล็ดมาทำอาหารแล้ว ยังเอาไปทำเมล็ดพันธุ์ด้วย

เรามีความจำเป็นต้องเสาะแสวงหาพืชเศรษฐกิจประเภทอื่นๆ มาให้เกษตรกรไทยของเราปลูก เพื่อทำให้เกษตรกรมีทางเลือกและมีรายได้เสริมเพิ่มขึ้น

เรื่องกัญชงที่จะเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ให้เกษตรกรไทยนี่ ผมขอสนับสนุนสุดตัวครับ.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com