คนเล่าว่า บ้านเรานำระบบ “โลจิสติกส์” บรรจุไว้ในแผนพัฒนาประเทศเป็นไทยแลนด์ 4.0 เพื่อสนับสนุนกิจกรรมรับส่งสินค้า บริการลูกค้าทั้งในและระหว่างประเทศ เป็นระบบที่เกิดในฝรั่งเศส โตกระจายไปทั่วโลก

เพิ่งถึงไทยไม่กี่ทศวรรษ แต่จะมาตายเมืองไทยหรือไม่-ไม่รู้ การรับส่งสินค้ายุคใหม่พัฒนาตาม โลจิสติกส์สากล กลบงานรับส่งพัสดุภัณฑ์ที่มีตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ภายใต้ชื่อไปรษณีย์ไทยสิ้นเชิง เมื่อบทบาทโลจิสติกส์ธุรกิจบริการแนวใหม่ กลุ่มทุนสร้างนวัตกรรมเชิงธุรกิจแบบท้าทายและชิงความได้เปรียบบริการรวดเร็วเป็นจุดขาย

คือส่งสินค้าวันนี้ รับวันพรุ่ง

ส่วนกรุงเทพฯ ส่งวันนี้รับวันนี้ ทำเอาไปรษณีย์ไทยออกอาการผันตัวเองให้ทันเอกชน ซึ่งเกิดผลดีกับผู้ใช้บริการ แต่ธุรกิจเมืองไทยมัก “ท่าดีทีเหลว” ให้ “ดีแตก” ขึ้นภายหลังประจำ ผู้ใช้บริการรับส่งพัสดุภัณฑ์รายใหญ่มีเครือข่ายทั่วไทยเล่าว่า นำซองเอกสารไปส่งผ่านร้านค้าย่อยย่านพหลโยธิน จ่าหน้าซองถึงผู้รับที่ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี รหัสไปรษณีย์ เบอร์โทรศัพท์ ระบุชื่อที่อยู่ผู้ส่ง รหัสไปรษณีย์ เบอร์โทรศัพท์ไว้ด้านล่างซองเอกสาร

จ่ายค่าขนส่ง 60 บาท ตามรหัสใบส่งของและใบเสร็จรับเงิน ทุกอย่างเงียบเหมือนเอกสารถึงมือผู้รับแล้ว แต่ผู้รับแจ้งผู้ส่งว่ายังไม่ได้รับเอกสารรีบแจ้งร้านค้ารายย่อยต้นทางชี้แจงว่า เอกสารรอการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากรหัสไปรษณีย์ผู้รับไม่ถูกต้อง ซึ่งไม่รู้ผิดเพี้ยนได้อย่างไร ในเมื่อผู้ส่งเขียนรหัสไว้ถูกต้องชัดเจน

ผู้ส่งจึงรีบโทรศัพท์ติดต่อไปยังเจ้าหน้าที่ บริษัทดำเนินการโดยตรงทันที ก็ได้รับคำยืนยันว่า รหัสผู้รับผิดจึงยังจัดส่งไม่ได้ และสินค้าถูกเก็บไว้ในโกดังจะจัดส่งให้ จะรายงานให้ผู้บริหารทราบ และแจ้งกลับผู้ส่งโดยเร็ว

...

คนร้องบอกว่า ผู้ส่งขอให้ส่งเอกสารกลับร้านค้าย่อยวันรุ่งขึ้น โดยไม่ขอรับเงินคืน เพื่อตรวจสอบรหัส ไปรษณีย์ทั้งผู้รับผู้ส่ง และถูกต้องทุกอย่าง แต่ไร้คำชี้แจงจากผู้บริหารแม้แต่รายเดียว มีพนักงานที่มารับเอกสารจากร้านค้าย่อย ที่อ้างช้าเพราะรหัสไปรษณีย์ปลายทางผิด แต่ผู้บริหารได้ส่งพัสดุไป อ.เขมราฐแล้วผู้รับปฏิเสธไม่รับสินค้า

นี่คือโกหกคำโต

เพราะผู้รับปลายทาง อ.เขมราฐ ยืนยันไม่มีใครแจ้งให้รับสินค้าและปกติก็ใช้บริการส่งสินค้าขายออนไลน์ผ่านสาขาย่อยที่นั่นเป็นประจำจนคุ้นเคยกันดี โกหกคำที่สองคือบอกทีแรกว่าสินค้าถูกเก็บอยู่ในโกดัง แต่ต่อมากลับบอกว่าสินค้าไปถึงปลายทางแล้ว และผู้รับปฏิเสธ อะไรคือจริงใจในการประกอบธุรกิจ

คนร้องบอกว่า ผู้บริหารรายเดียวกันยังท้าด้วยว่า หากไม่พอใจก็ให้ไปร้องเรียนได้เลย นี่คืออะไรดีๆ ที่เรารับเขามา มักตายเมืองไทยในที่สุด

นที่เขียนบอกว่า ผู้ส่งจึงไปส่งผ่านที่ ไปรษณีย์พี่สมร เสียค่าส่ง 37 บาท

ถูกกว่าธุรกิจรับส่งเจ้าปัญหาเสียอีก.

“เพลิงพยัคฆ์”
pluengpayak@thairath.co.th