(ภาพถ่ายมุมสูงบริเวณที่ตั้ง โครงการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ จ.สงขลา เนื้อที่รวม 16,753 ไร่ ใช้เงินลงทุนประมาณ 18,680 ล้านบาท คาดว่าจะก่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพจำนวนมาก.)

โครงการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ จ.สงขลา เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) มุ่งใช้แนวทางการพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบและปัญหาเศรษฐกิจในพื้นที่

โดยมีการกำหนด “เมืองต้นแบบ” สำหรับการพัฒนา 3 เมืองแรก ประกอบ ด้วย อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส อ.เบตง จ.ยะลา และ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี

อ.จะนะ จ.สงขลา เป็นเมืองต้นแบบลำดับที่ 4 ในฐานะ “เมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” แผนงานพัฒนาจะนะได้กำหนดเขตผังเมืองในพื้นที่ 3 ตำบล ได้แก่ ต.นาทับ ต.ตลิ่งชัน และ ต.สะกอม มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่รออยู่

ภาพโมเดลผัง โครงการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ จ.สงขลา ที่มีทั้งเสียงคัดค้านการก่อสร้างและสนับสนุนให้ก่อสร้าง เพื่อต้องการเห็นการพัฒนาพื้นที่ให้ลูกหลานมีงานทำเพิ่มขึ้นในอนาคต.
ภาพโมเดลผัง โครงการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ จ.สงขลา ที่มีทั้งเสียงคัดค้านการก่อสร้างและสนับสนุนให้ก่อสร้าง เพื่อต้องการเห็นการพัฒนาพื้นที่ให้ลูกหลานมีงานทำเพิ่มขึ้นในอนาคต.

...

ทั้งโครงการก่อสร้างท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2, การสร้างรางรถไฟเชื่อมโยง ท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2, การสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมเพื่อรองรับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เพื่อผลิตสินค้าจากทรัพยากรในท้องถิ่น รวมทั้งผลิตสินค้าที่นำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ซึ่งสามารถนำเข้าและส่งออกผ่านทางท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2

การก่อสร้างโรงไฟฟ้า มีข้อเสนอทั้งโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้าชีวมวล โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้าพลังลม บางโครงการเคยมีการผลักดันมาก่อนแต่ก็ถูกประท้วงคัดค้านไปบ้างแล้ว

ชาวบ้านมาร่วมทำประชาพิจารณ์ชูป้ายสนับสนุน โครงการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ เพราะต้องการเห็นการพัฒนาพื้นที่เพื่อลูกหลาน.
ชาวบ้านมาร่วมทำประชาพิจารณ์ชูป้ายสนับสนุน โครงการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ เพราะต้องการเห็นการพัฒนาพื้นที่เพื่อลูกหลาน.

ก่อนหน้านี้ระหว่างวันที่ 14-20 พ.ค.62 ศอ.บต.ได้กำหนดจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ แต่ถูกคัดค้านอย่างหนักจากภาคประชาชนบางส่วนในพื้นที่ ตลอดจนองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) และนักวิชาการบางกลุ่ม จนต้องเลื่อนไปอย่างไม่มีกำหนด

โครงการดังกล่าวเป็นโครงการขนาดใหญ่ ใช้งบประมาณและพื้นที่จำนวนมหาศาล อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง ทั้งสภาพแวดล้อมและสุขภาพชุมชน ไม่ใช่แค่ชุมชน 3 ตำบลของ อ.จะนะเท่านั้น แต่รวมถึงชาวประมงพื้นบ้านและประชาชนทั่วไปอีกหลายอำเภอใน จ.สงขลาด้วย

ชาวบ้าน 3 ตำบล ประกอบด้วย ต.นาทับ ต.ตลิ่งชัน และ ต.สะกอม รับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการขับเคลื่อนโครงการฯ ที่ ร.ร.จะนะวิทยา ต.สะกอม.
ชาวบ้าน 3 ตำบล ประกอบด้วย ต.นาทับ ต.ตลิ่งชัน และ ต.สะกอม รับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการขับเคลื่อนโครงการฯ ที่ ร.ร.จะนะวิทยา ต.สะกอม.

...

ขณะที่กลุ่มมวลชนที่เห็นด้วยซึ่งเรียกตัวเองว่า “ตัวแทนชาวบ้านจาก 3 ตำบลใน อ.จะนะ จ.สงขลา” เรียกร้องให้เปิดเวทีฟังเสียงชาวบ้านว่าจะเดินหน้าหรือยกเลิกโครงการ เพราะมั่นใจว่าเจ้าของพื้นที่ตัวจริงส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการพัฒนา สร้างงานสร้างรายได้ในพื้นที่

ส่วนเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ขอให้ทุกฝ่ายฟังแนวทางของรัฐบาลก่อนตัดสินใจว่า จะเห็นด้วยกับโครงการหรือไม่ จึงอยากให้มีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านก่อน โดยเฉพาะชาวบ้านที่เป็นเจ้าของพื้นที่ตัวจริงได้มีโอกาสรับฟังและแสดงความคิดเห็นบ้าง

ศอ.บต.จึงได้จัดเวทีรับความคิดเห็นของประชาชนขึ้นอีกครั้งเมื่อวันที่ 11 ก.ค.2563 ที่โรงเรียนจะนะวิทยา ต.สะกอม อ.จะนะ มี นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศอ.บต. นายวรวิทย์ เลิศบุษราคาม รอง กก.ผจก. ใหญ่อาวุโส ฝ่ายโรงงาน บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ และ นายกันต์ภัทร แสงจันทร์ ที่ปรึกษาไออาร์พีซี ร่วมด้วย

นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศอ.บต.ร่วมเวทีแสดงความคิดเห็น.
นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศอ.บต.ร่วมเวทีแสดงความคิดเห็น.

...

นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศอ.บต. เผยว่า ก่อนสร้างอุตสาหกรรมใดๆ ภาคเอกชนจะต้องศึกษา EIA หรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม ต้องไม่รุกล้ำถิ่นที่อยู่อาศัย และพื้นที่ทำกินของประชาชน

“ศอ.บต.ไม่เคยมีเจตจำนงทำลายความสุขของประชาชน หากทำแล้วประชาชนไม่มีความสุขก็อย่าทำ วันนี้เราต้องพิจารณาปัญหาการว่างงาน พัฒนาพืชผลทางการเกษตรก่อนเป็นลำดับแรก เพื่อยกระดับพี่น้องจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” นายชนธัญ กล่าว

นายสักริยา อะยามา เรียกร้องให้สนับสนุนกองทุนช่วยเหลือชาวประมง.
นายสักริยา อะยามา เรียกร้องให้สนับสนุนกองทุนช่วยเหลือชาวประมง.

ด้าน นายสักริยา อะยามา ราษฎรหมู่ 2 ต.นาทับ อ.จะนะ เผยว่า ตนเป็นคนหนึ่งที่อยู่กับอาชีพประมง ต้องขายผ่านพ่อค้าคนกลาง เพราะชาวประมงส่วนใหญ่กู้เงิน ไม่มีโอกาสกำหนดราคาได้ ขอให้ ศอ.บต. ร่วมสนับสนุนกองทุนช่วยเหลือชาวประมงด้วย

...

ส่วน น.ส.อัญชลี หลีเสาะ กล่าวว่า ต้องการให้โครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะกิจ ทำตามสัญญาที่ให้กับชาวบ้าน จริงๆแล้วตนไม่ต้องการให้ทำ แต่ถ้าทำแล้วได้ประโยชน์จริงๆก็ให้เดินหน้าต่อไป

น.ส.อัญชลี หลีเสาะ ยืนยัน ศอ.บต.ทำให้ชัดเจน พร้อมสนับสนุน.
น.ส.อัญชลี หลีเสาะ ยืนยัน ศอ.บต.ทำให้ชัดเจน พร้อมสนับสนุน.

นอกจากนี้ ในวันเดียวกัน ที่องค์การบริหารส่วนตำบลตลิ่งชัน หมู่ 4 ต.ตลิ่งชัน อ.จะนะ จ.สงขลา มีการตั้งเวทีคู่ขนานกับเวทีรับฟังความคิดเห็นเมืองต้นแบบ ใช้ชื่อกลุ่มว่า “กลุ่มชุมชนจะนะต้นแบบ”

มีข้อสรุปว่า ทางกลุ่มฯจะขอตั้ง สหกรณ์ชุมชนจะนะต้นแบบจำกัด ขึ้น ขอใบอนุญาตสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 1,100 Mw/แก๊ส เพื่อขายไฟฟ้าให้กับ นิคมอุตสาหกรรมจะนะ ซึ่งมีความต้องการใช้ไฟฟ้า 2,500 Mw

โดยจะแบ่งผลกำไร 50% ไปเป็นกองทุนพัฒนา 6 ด้าน คือ 1.งบประมาณตำบล 2.งบประมาณหมู่บ้าน 3.งบประมาณสุขภาพ 4.งบประมาณกิจกรรมเยาวชน 5.งบประมาณภัยธรรมชาติ และ 6.งบประมาณสังคมทั่วไป

หากโครงการสามารถส่งผลประโยชน์ให้กับประชาชนได้อย่างแท้จริงก็พร้อมสนับสนุน

กลุ่มชาวบ้านที่คิดต่างอ่านคำแถลงการณ์ต่อต้าน โครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ จ.สงขลา ขอให้ทบทวนใหม่ ที่หน้าบริเวณแยกนกเขา อ.จะนะ.
กลุ่มชาวบ้านที่คิดต่างอ่านคำแถลงการณ์ต่อต้าน โครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ จ.สงขลา ขอให้ทบทวนใหม่ ที่หน้าบริเวณแยกนกเขา อ.จะนะ.

ทั้งหมดนี้คือความห่วงใยของประชาชนในพื้นที่ หากรัฐบาลให้ความมั่นใจเชื่อว่า จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งระบบจะก้าวไปสู่การพัฒนาที่ก้าวหน้าขึ้นอีกระดับ

สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคตต่อไป.

สมพร หาญณรงค์