ตำรวจที่ทำงานด้านสอบสวน กำลังถูกลดบทบาท? เพราะขณะนี้กรรมาธิการกฎหมายและสิทธิมนุษยชน กำลังเสนอแก้ไขกฎหมาย ป.วิอาญา เพิ่มอำนาจอัยการหลายประเด็น
ว่าที่ พ.ต.ดร.สมบัติ วงศ์กำแหง กรรมการฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย เนติบัณฑิตยสภา มองว่า การต่อสู้ทางความคิดระหว่างอัยการกับตำรวจกำลังจะจบลง ด้วยการเพิ่มอำนาจสอบสวนให้อัยการ เพราะมีแรงสนับสนุนจากภาคประชาชน
ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ...ที่กำลังจะเสนอให้ ครม.เห็นชอบ เพื่อส่งให้สภาพิจารณาออกเป็นกฎหมาย มีหลักการสำคัญว่า...
ให้พนักงานอัยการเข้าตรวจสอบการสอบสวนกับพนักงานสอบสวน คดีที่มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป หรือคดีที่ผู้มีส่วนได้เสียร้องขอ
ที่สำคัญ หากพนักงานอัยการเห็นสมควร ให้เข้าตรวจสอบการสอบสวนหรือพยานหลักฐานตั้งแต่ชั้นเริ่มสอบสวน โดยให้พนักงานสอบสวนปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานอัยการด้วย!
นอกจากนี้ คดีที่พนักงานสอบสวนไม่รับคำร้องทุกข์ หรือสอบสวนล่าช้า ให้พนักงานอัยการแจ้งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวน หรือสอบสวนเองได้ตามที่เห็นสมควร
เรื่องนี้มีความพยายามแก้ไขมากว่า 10 ปี แต่ยังไม่ผ่านออกมาเป็นกฎหมาย?
แต่วันนี้มีความเคลื่อนไหวจากภาคประชาชน เรียกร้องให้ตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจสอบสวนของตำรวจ เพราะตำรวจไม่รับแจ้งความ สอบสวนล่าช้า ไม่รวบรวมพยานหลักฐานให้ครบถ้วน มีข้อสงสัย ฯลฯ
ทั้งที่ความเป็นจริง อาจเกิดจากโครงสร้างองค์กร อัตรากำลัง เครื่องมืออุปกรณ์ หรืองบประมาณมากกว่า
ตำรวจดีมีมากและน่าเห็นใจ ต้องควักเนื้อซื้ออุปกรณ์หลายอย่างเอง แม้กระทั่งค่าน้ำมันรถ!
...
ปัจจุบัน การถ่วงดุลอำนาจการสอบสวนมีหลายลักษณะ เช่น ทนายสามารถเข้าร่วมฟังการสอบสวนกับผู้ต้องหา ให้สหวิชาชีพร่วมสอบสวนเด็ก เป็นต้น
วันนี้ อัยการเข้าไปร่วมสอบคดีสำคัญ เช่น คดีของกรมสอบสวนคดีพิเศษอยู่แล้ว...
หรือจะหมดเวลาสำหรับพนักงานสอบสวนจริงๆ?
สหบาท