กรมการแพทย์ เตือน "ภาวะโลหิตจาง" พบได้บ่อยในประชากรทั่วไป เกิดจากหลายสาเหตุ ชี้หากพบมีอาการเสี่ยง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ และรับการรักษาที่ถูกต้อง
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ภาวะโลหิตจาง พบได้บ่อยในประชากรทั่วไป เป็นภาวะร่างกายมีเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติ หรือพบว่าปริมาณเม็ดเลือดแดงในเลือดน้อยกว่าปกติ ทำให้ความสามารถในการนำออกซิเจนไปสู่อวัยวะต่างๆ ของร่างกายมีประสิทธิภาพลดลง อาการของโลหิตจางเริ่มตั้งแต่ไม่มีอาการ ถ้าโลหิตจางน้อยๆ จะไม่มีผลต่อสุขภาพ
แต่ถ้าบังเอิญเกิดเหตุที่ทำให้เสียเลือดกะทันหัน เช่น อุบัติเหตุรถชน หรือมีการตกเลือดจากเหตุทางโรคภัย เช่น แท้งลูก ท้องนอกมดลูก จะทนทานการเสียเลือดได้ไม่ดี แต่ถ้าโลหิตจางมากมีผลต่อร่างกาย คือ ทำให้อ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ ใจสั่น หน้ามืด เป็นลมง่าย เพราะถ้ามีโลหิตจางมากๆ หัวใจต้องทำงานมากขึ้น เพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี่ยงร่างกายให้มากขึ้น อาจมีหัวใจโต เกิดภาวะหัวใจวายได้
สำหรับสาเหตุของภาวะโลหิตจาง เกิดได้หลายปัจจัย ซึ่งสาเหตุที่พบได้บ่อยมาจากการขาดสารอาหาร เช่น ขาดธาตุเหล็ก หรือโลหิตจางที่ได้รับการถ่ายทอดทางพันธุกรรม เช่น โรคธาลัสซีเมีย หรืออาจเกิดจากการที่มีการสูญเสียเลือดเรื้อรัง บางครั้งมีเลือดออกจากทางเดินอาหาร เช่น ถ่ายอุจจาระมีเลือดปนหรือถ่ายดำ โรคที่ทำให้ถ่ายมีเลือดปนที่พบบ่อย ได้แก่ โรคกระเพาะอาหาร โรคริดสีดวงทวาร โรคหลอดเลือดโป่งพอง โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น
ขณะที่ การรับประทานยาแก้ปวดแก้เมื่อยเป็นประจำ แล้วยาระคายกระเพาะอาหารทำให้อักเสบมีแผล เกิดเลือดออกได้ การเสียเลือดจากมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด ถ้าถึงวัยหมดประจำเดือนแล้วมีเลือดออกทางช่องคลอด ต้องรีบไปตรวจทันทีเนื่องจากอาจเกิดจากโรคมะเร็งได้ เกิดจากโรคเรื้อรัง เช่น ไตวาย โรคตับ ข้ออักเสบ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคไขกระดูกเสื่อม เป็นต้น หลักการสำคัญในการรักษาโลหิตจาง คือรักษาที่สาเหตุของโลหิตจางให้พบ โดยควรได้รับการตรวจวินิจฉัยโรคก่อน เพื่อให้ได้รับการรักษาที่เหมาะสมตามสาเหตุของโรคที่แท้จริง
...
ทางด้าน นายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเพิ่มเติมว่า การป้องกันภาวะโลหิตจาง ได้แก่ การรับประทานอาหารครบทั้ง 5 หมู่ โดยเฉพาะโปรตีนและอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง ได้แก่ ไข่ ตับ ไต เนื้อสัตว์ เมล็ดธัญพืช เช่น ถั่ว งา เมล็ดฟักทอง ลูกเดือย เป็นต้น ละเว้นการรับประทานอาหารที่ขัดขวางการดูดซึมของธาตุเหล็ก เช่น ชา กาแฟ โอเลี้ยง เป็นต้น
ทั้งนี้ ไม่ควรรับประทานยาชุด แก้ปวดเมื่อย แก้อักเสบ ยาหม้อ ยาลูกกลอน เนื่องจากจะทำให้เกิดการระคายกระเพาะอาหาร ส่งผลให้มีอาการปวดเสียดท้อง ท้องอืด เลือดออกในกระเพาะอาหาร หรือกระเพาะอาหารทะลุได้ หากมีอาการปวดเสียดแน่นท้อง ขับถ่ายอุจจาระผิดปกติไปจากเดิม ถ่ายดำหรือมีเลือดปน เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาออกเรื้อรัง จ้ำเลือดออกตามตัว ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ และรับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป.