ไทยจะเข้าร่วม CPTPP เอ็นจีโอเจ้าประจำออกมาคัดค้าน...อ้างต่อไปเกษตรกรจะเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกต่อไม่ได้ ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ราคาแพง เกษตรกรต้องเป็นทาสบริษัทข้ามชาติ

ตามสไตล์เอาความไม่รู้ ความหวาดกลัวของผู้คน มาเป็นเครื่องมือสร้างพลังมวลชนให้หลงเชื่อ...ไม่ต่างอะไรกับแบนสารเคมีเกษตรนั่นแหละ

สิ่งที่ยกมาอ้าง จริงเท็จแค่ไหน...วงสัมมนา CPTPP : เกษตรไทยเสียเปรียบจริงหรือ? จัดโดย สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีวิทยากรสาขาที่เกี่ยวข้อง กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ, สำนักคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร, ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพ-แห่งชาติ (ไบโอเทค), ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว ม.เกษตรศาสตร์ มาให้ข้อมูล

CPTPP เรียกเป็นภาษาไทย “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” ไม่ต่างอะไรกับข้อตกลงการค้าเสรี ที่เรามีการเจรจาเพื่อให้สิทธิพิเศษไปทั่วโลกนั่นแหละ

ปัจจุบัน CPTPP ที่เรายังไม่ได้เข้าร่วม มีสมาชิกทั้งหมด 11 ประเทศ

หากจะเข้าร่วมเราต้องเข้าไปเป็นภาคีในอนุสัญญา UPOV1991 ว่าด้วยพันธุ์พืช โดยอัตโนมัติ...นี่แหละประเด็นดราม่าชวนเชื่อในโลกออนไลน์

UPOV หรือสหภาพเพื่อคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ เป็นความตกลงเพื่อให้สิทธิผูกขาดพันธุ์พืชใหม่แก่บริษัทและนักปรับปรุงพันธุ์ มีสมาชิก 94 ประเทศ...เหมือนการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในเรื่องของพันธุ์พืช เพื่อจูงใจให้นักปรับปรุงพันธุ์พืชแข่งทำพันธุ์ใหม่ๆมาให้เกษตรกรปลูก

เป็นเรื่องเก่ามีมาตั้งแต่ปี 2504 และปรับปรุงครั้งล่าสุดปี 2534 (ค.ศ.1991) เลยทำให้มีชื่อต่อท้ายเป็น UPOV 1991

สหภาพเพื่อคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ แปลตรงตัว คุ้มครองเฉพาะพืชพันธุ์ใหม่ ไม่เกี่ยวกับพืชพันธุ์พื้นเมือง อย่างที่ถูกปลุกกระแสให้คนกลัว จนเข้าใจกันผิดไปทั้งเมือง

...

คิดแบบง่ายๆ เขาจูงใจให้เกิดการแข่งขันปรับปรุงพืชพันธุ์ใหม่ๆ...เมื่อแข่งทำออกมามาก ราคาพันธุ์จะถูกหรือแพง เกษตรกรจะได้ประโยชน์มั้ย คงคิดได้นะ.


สะ–เล–เต