นายวิทยา พิมทอง นักวิจัยจากทีมวิจัยความปลอดภัยระดับนาโนด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม กลุ่มวิจัยการวิเคราะห์ระดับนาโนขั้นสูงและความปลอดภัย ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า นาโนเทคประสบความสำเร็จในการพัฒนาวิธีทดสอบฤทธิ์ต้านการกำเนิดหลอดเลือด (Anti-angiogenesis assay) โดยใช้ตัวอ่อนปลาม้าลาย ทดแทนการใช้สัตว์ทดลอง รองรับการทดสอบยาต้านมะเร็ง เพราะตัวอ่อนของปลาม้าลายมีพัฒนาการเร็ว และมีลำตัวโปร่งแสง สามารถศึกษาเส้นเลือดและพัฒนาการเต้นของหัวใจ ที่สำคัญ 70% ของยีนที่เกี่ยวข้องในกระบวนการของร่างกายของมนุษย์พบในปลาม้าลายและ 80% ของยีนที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคในมนุษย์มีในปลาม้าลาย ทำให้โมเดลปลาม้าลาย สามารถใช้ทำนายผลต่อสุขภาพมนุษย์ รวมถึงผลของยาต้านมะเร็งที่จะออกฤทธิ์ยับยั้งมะเร็งในร่างกายและอวัยวะต่างๆได้อีกด้วย

ปลาม้าลายเป็นทางเลือกใหม่เพื่อใช้ศึกษาความปลอดภัยของอนุภาคนาโน สารสมุนไพรและสารเคมีอื่นๆ นอกจากนี้ ยังสามารถลดปัญหาเรื่องจริยธรรมสัตว์ทดลอง เนื่องจากในการทดสอบใช้ตัวอ่อนปลาม้าลายหลังปฏิสนธิจนถึง 5 วัน ในระดับสากลไม่ถือว่าเป็นสัตว์ทดลอง ปัจจุบันมีการศึกษาจำนวนมากได้แสดงให้เห็นแล้วว่า โมเดลปลาม้าลายเป็นโมเดลที่มีความน่าเชื่อถือในการนำมาใช้ในการศึกษาวิจัย ด้านพิษวิทยาและได้รับการยอมรับในระดับสากล” นายวิทยากล่าว.