สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านครับ สัปดาห์นี้มีเรื่องที่น่าสนใจและเป็นที่จับตามองของประชาชนเกี่ยวกับการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการของสายการบินยักษ์ใหญ่ของประเทศ ทำให้นักลงทุน ผู้ถือหุ้น เจ้าหนี้ ลูกจ้าง และคู่ค้า เกิดความวิตกกังวลว่า ผลของการฟื้นฟูกิจการจะเป็นอย่างไร หลายท่านยังไม่เข้าใจว่า กระบวนการในคดีล้มละลาย กับ กระบวนการในคดีขอฟื้นฟูกิจการ แตกต่างกันอย่างไร ผลของการที่ศาลรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้มีอะไรบ้าง และถ้าศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ลูกหนี้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนแล้วผลจะเป็นอย่างไร รวมถึงเจ้าหนี้มีหน้าที่อย่างไรบ้าง

ประเด็นแรก กระบวนการในคดีล้มละลาย กับ กระบวนการในคดีขอฟื้นฟูกิจการ แตกต่างกันอย่างไร

การล้มละลาย คือ กรณีที่บุคคลหรือนิติบุคคลมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน โดยบุคคลธรรมดามีหนี้สินไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท และนิติบุคคลมีหนี้สินไม่น้อยกว่าสองล้านบาท

การฟื้นฟูกิจการ คือ กรณีที่บุคคลหรือนิติบุคคลมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินเช่นเดียวกับบุคคลล้มละลาย กิจการยังดำเนินต่อไปได้ มีกำไร แต่ต้องเอากำไรที่ได้มาไปชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้รายเดียวหรือหลายราย หรือถูกฟ้องร้องดำเนินคดี บังคับคดี ทำให้ขาดสภาพคล่อง จนเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินกิจการ ส่งผลกระทบต่อเจ้าหนี้ คู่ค้า ลูกจ้าง และกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการจึงเป็นหนทางที่จะสามารถบริหารจัดการหนี้สินอย่างเป็นธรรม ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการที่ผ่านการเห็นชอบจากเจ้าหนี้เสียงส่วนใหญ่และศาล ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทุกราย ทำให้กิจการของลูกหนี้ดำเนินต่อไปได้ เรียกว่าเกิดผลดีแก่ทุกฝ่ายมากกว่าการที่ลูกหนี้ต้องล้มละลาย เนื่องจากการล้มละลายเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องนำทรัพย์สินของลูกหนี้ทุกชิ้นออกขายทอดตลาด และนำเงินมาเฉลี่ยแบ่งให้แก่เจ้าหนี้ตามสัดส่วนของมูลหนี้ ทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้น้อยกว่าการให้ลูกหนี้ฟื้นฟูกิจการ

...

ส่วนเจ้าหนี้ที่มีหลักประกัน ไม่ว่าการฟื้นฟูกิจการหรือการล้มละลาย ของลูกหนี้ย่อมได้เปรียบกว่าเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันแน่นอนครับ

ประเด็นต่อมา ผลของการที่ศาลรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้มีอะไรบ้าง

เมื่อศาลรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้แล้ว ศาลจะนัดไต่สวนคำร้อง เพื่อพิจารณาว่า ลูกหนี้มีเหตุอันควรให้ฟื้นฟูกิจการหรือไม่ และยื่นคำร้องขอฟื้นฟูฯ โดยสุจริตหรือไม่ แต่ผลทางกฎหมายที่เกิดขึ้นทันทีเมื่อศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ แม้จะยังไม่ได้ไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูฯ ก็ตาม กล่าวคือ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา 90/12 กำหนดห้ามมิให้เจ้าหนี้ฟ้องลูกหนี้ ในคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในศาลทุกชั้นศาลจะต้องจำหน่ายคดีชั่วคราว คดีที่กำลังจะบังคับคดี หรือบังคับคดีแล้วอยู่ระหว่างการขายทอดตลาดจะต้องระงับการดำเนินการทั้งหมด เป็นต้น

ดังนั้น การยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการอาจจะเป็นวิธีการประวิงเวลาของลูกหนี้ เพื่อไม่ให้ถูกบังคับคดีตามกฎหมายก็ได้ กฎหมายจึงกำหนดให้ศาลต้องพิจารณาถึงความสุจริต ช่องทางการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้อย่างเคร่งครัด และต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียหายแก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย คู่ค้า และลูกจ้าง

ประเด็นต่อมา เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ลูกหนี้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนแล้วผลจะเป็นอย่างไร รวมถึง เจ้าหนี้มีหน้าที่อย่างไรบ้าง

เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ลูกหนี้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะประกาศโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผนในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งต่อไปก็จะเป็นหน้าที่ของเจ้าหนี้ทุกประเภท ที่จะต้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผนในราชกิจจานุเบกษา ถ้าเจ้าหนี้ไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดดังกล่าวถือว่าหมดสิทธิ์หลายอย่าง เช่น ไม่มีสิทธิ์คัดค้านคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายอื่น ไม่มีสิทธิ์คัดค้านแผนฟื้นฟูกิจการหรือเสนอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ ไม่มีสิทธิ์รับเงินตามแผนฟื้นฟูกิจการ เป็นต้น

สุดท้าย หากลูกหนี้ปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูกิจการเสร็จสิ้น และศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้แล้ว เจ้าหนี้ที่ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระไว้ก็ไม่มีสิทธิ์นำมูลหนี้มาฟ้องลูกหนี้รายนี้อีกครับ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นคดีล้มละลายหรือการขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ เจ้าหนี้ควรให้ความสำคัญและปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายตามกำหนดเวลาอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้มูลหนี้ของท่านกลายเป็นศูนย์ครับ

สำหรับท่านที่มีคำถามข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายและต้องการความช่วยเหลือ หรือมีเรื่องราวดีๆ อยากแบ่งปันประสบการณ์ เมลมาหาผมได้ที่ “คุยกับคนดัง” talktoceleb@trendvg3.com ได้เลยครับ

...