ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการให้ อว.เป็นหน่วยงานหลักในการเร่งรัดให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG: Bioeconomy, Circular Economy, Green Economy) ให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม อว. ได้จัดระดมความคิด โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นการจัดประชุมระดมความคิดของทุกภาคส่วน ซึ่งแบ่งเป็น 7 กลุ่มย่อย ได้แก่ 1.กลุ่มเกษตร 2. กลุ่มอาหาร 3.กลุ่มยาและวัคซีน 4.กลุ่มเครื่องมือแพทย์ 5.กลุ่มพลังงานวัสดุและเคมีชีวภาพ 6.กลุ่มท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และ 7.กลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน ส่วนที่สองเป็นการระดมสมองของผู้บริหารบริษัทชั้นนำของไทย ด้านเกษตร อาหาร และพลังงาน มุ่งเน้นผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่ความเป็นผู้นำของโลกบนฐานความพร้อมของประเทศไทยจากจุดแข็งของการเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของโลก

ดร.สุวิทย์กล่าวต่อว่า ทั้ง 8 กลุ่มได้ระดมความคิดจนได้ข้อสรุปดังนี้ กลุ่มเกษตรให้ความสำคัญกับการเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ มาตรฐาน ปลอดภัย เพื่อสุขภาพที่ดีของผู้บริโภค และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง กลุ่มอาหารให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพอาหารทั้งอุตสาหกรรมเดิมและอาหารท้องถิ่นรวมถึงสร้างนวัตกรรมอาหารทั้งในกลุ่มอาหารเฉพาะกลุ่ม อาหารผู้สูงอายุ กลุ่มยาวัคซีน และเครื่องมือแพทย์ ให้ความสำคัญกับการเพิ่มความสามารถในการผลิตของประเทศ กลุ่มพลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ เป็นการพัฒนาต่อยอดใช้ประโยชน์จากผลผลิตทางการเกษตร รวมถึงของเหลือทิ้งในกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรไปสู่การเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียนเน้นใช้ทรัพยากรทุกประเภทอย่างคุ้มค่า ส่วนบริษัทชั้นนำด้านการเกษตร อาหาร และพลังงาน เน้นสร้างความเป็นผู้นำในตลาดโลก เน้นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพและความงาม และผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์

...

“ผมจะนำเสนอแนวความคิดดังกล่าวต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดการใช้ BCG เป็นโมเดลในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เดินหน้าไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยใช้จุดแข็งของประเทศไทยบนฐานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการเพิ่มจีดีพี จาก 3.4 ล้านล้านบาท เป็น 4.4 ล้านล้านบาท ในอีก 5 ปีข้างหน้า เพิ่มการจ้างงาน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยนวัตกรรม เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจ BCG ที่เติบโตแข่งขันได้ในระดับโลก เกิดการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ ชุมชนเข้มแข็ง มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อการส่งต่อทรัพยากรสู่คนรุ่นต่อไป” ดร.สุวิทย์กล่าว.