โบ้ยส่งให้ยื่นอุทธรณ์เอง แต่ดันอุ้มที่รับราชการอยู่ สพฐ.แจก‘กล่องทีวี’ศึกษา

ศบค.ตรวจพบ 5 กิจกรรมไม่ปฏิบัติตามมาตรการผ่อนปรน ขู่โทษหนักสุดถึงสั่งปิด ส่วนกิจการ/ กิจกรรมที่ทำไม่ครบ กองถ่ายมากสุด 20 เปอร์เซ็นต์ รองลงไปสถานที่ออกกำลังกายและร้านตัดผม ยันต้องเก็บข้อมูลใน “ไทยชนะ” 60 วัน ตามคำแนะนำกรมควบคุมโรค เลขาฯ สมช.แย้ม เลิก-ไม่เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อยู่ที่ ศบค. และครม.เป็นหลัก กระทรวงเกษตรฯทำพิลึกไม่ให้เยียวยาข้าราชการบำนาญที่เป็นเกษตรกรกว่า 8 หมื่นราย อ้างมติ ครม.ห้าม แนะให้อุทธรณ์สิทธิ์ แต่ปล่อยเยียวยาข้าราชการประจำ 91,426 รายแทน เพราะมติ ครม.วันที่ตกลงจ่ายเงินเยียวยาให้เกษตรกรไม่ได้เขียนห้ามไว้ “อุตตม” รับพิจารณากรณีสหภาพแรงงานออมสินขอเบี้ยตรากตรำช่วงโควิด 2 เท่า ทดสอบ เรียนผ่านครูตู้ระบบทางไกล-ออนไลน์ 3 วันแรก พบปัญหานักเรียนจูนช่องทีวีไม่ได้ สพฐ. สั่ง 225 ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาเคาะประตูบ้านสำรวจแก้ปัญหาด่วน เตรียมแจก 2 ล้านกล่องดิจิทัลให้ถึงบ้าน เลขาธิการ กพฐ. ยันพื้นที่แพร่ระบาดโควิดต้องเรียนออนไลน์ ผู้ว่าฯกระบี่ คาดโทษโรงเรียนถ้าเด็กติดโควิด ยธ.จ่อให้ญาติเยี่ยมนักโทษได้ 1 มิ.ย. กำชับห้ามเชื้อหลุดเข้าเรือนจำ

กรณีผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างหนักในประเทศไทย ส่งผลให้รัฐบาลตัดสินใจประกาศพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) บริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน ยกระดับการควบคุมสถานการณ์การแพร่เชื้อ สั่งปิดสถานที่หลาย ประเภทที่เป็นแหล่งชุมนุมของประชาชน ส่งผลให้บริษัทเอกชนจำนวนมากต้องปิดกิจการชั่วคราว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคร้าย สร้างผลกระทบกับลูกจ้างจำนวนมาก เป็นที่มาของมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบทุกภาคส่วน ด้วยการให้ลงทะเบียนในเว็บไซต์อย่างเป็นทางการหลายเว็บไซต์ของรัฐบาล เพื่อรับเงินเยียวยา ต่อมารัฐบาลประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศตั้งแต่เวลา 22.00-04.00 น. จนสถานการณ์เริ่มดีขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อลดลง จึงทยอยออกมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 1 และ 2 ภาพรวมการติดเชื้อยังดีอยู่ในความควบคุมประกาศเลื่อนเคอร์ฟิวออกไปเป็น 23.00-04.00 น. และเล็งประกาศมาตรการผ่อนปรนระยะต่อไปตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

...

ศบค.ขู่ปิดกิจการไม่เว้นระยะ

ความคืบหน้าจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 20 พ.ค. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงว่า ตัวเลขการลงทะเบียนใน www.ไทยชนะ.com  เมื่อเวลา 21.00 น. วันที่ 19 พ.ค. มีร้านค้าลงทะเบียน 67,904 ร้าน จำนวนผู้ใช้งาน 5,077,978 คน ขณะที่ผลการตรวจกิจการ/กิจกรรมประจำวันที่ 19 พ.ค. ตรวจทั้งสิ้น 17,588 กิจการ/กิจกรรม พบว่าไม่ปฏิบัติตามมาตรการ 5 กิจการ/กิจกรรม เราจะมีมาตรการตักเตือน แนะนำ ตรวจซ้ำ ถ้ายังไม่ปรับปรุงจะนำไปสู่การปิดกิจการ ส่วนผู้ที่ปฏิบัติตามมาตรการแต่ไม่ครบมีจำนวน 1,863 กิจการ/กิจกรรม ส่วนใหญ่เป็นการเว้นระยะห่าง 45.6 เปอร์เซ็นต์ จำนวนผู้ใช้บริการ 17.4 เปอร์เซ็นต์ จุดล้างมือและเจลแอลกอฮอล์ 15.2 เปอร์เซ็นต์ สำหรับกิจการ/กิจกรรมที่อยู่ในข่ายนี้มากที่สุดคือ โทรทัศน์ กองถ่าย 20 เปอร์เซ็นต์ สถานออกกำลังกาย 16.5 เปอร์เซ็นต์ ร้านตัดผม 13.9 เปอร์เซ็นต์ ห้องสมุด 12.9 เปอร์เซ็นต์ ส่วนผลการปฏิบัติการด้านความมั่นคงช่วงเคอร์ฟิวคืนวันที่ 19 พ.ค. ต่อเนื่องเช้าวันที่ 20 พ.ค. มีผู้ออกนอกเคหสถาน 301 คน ลดลงจากคืนก่อน 13 คน ชุมนุม มั่วสุม 26 คน ลดลงจากคืนก่อน 11คน การดื่มสุรายังเป็นการกระทำผิดมากที่สุด

แจงเหตุเก็บข้อมูล “ไทยชนะ” 60 วัน

เมื่อถามว่า เหตุใดแฟลตฟอร์มไทยชนะต้องเก็บข้อมูลเช็กอินของประชาชนไว้ถึง 60 วัน นพ.ทวีศิลป์ตอบว่า อธิบดีกรมควบคุมโรคให้ชุดข้อมูลว่า เราใช้ประสบการณ์จากกรณีสนามมวยที่มีผู้ติดเชื้อถึง 4 รุ่น แต่ละรุ่นใช้เวลา 14 วัน เมื่อรวมกันแล้วจะใช้เวลา 60 วัน หรือ 2 เดือน ทุกอย่างมีหลักการและเหตุผลทั้งสิ้น เมื่อถามว่ามีการตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะแสดงอาการเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ ไม่แสดงอาการ 80 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบตัวเลขผู้ป่วยในประเทศไทยที่มี 3,034 คน แสดงว่าเรามีผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการอีก 1.2 หมื่นคนหรือไม่ นพ.ทวี–ศิลป์กล่าวว่า คงไม่ใช่บัญญัติไตรยางศ์ที่เอาตัวเลขมาเทียบเคียงง่ายๆแบบนั้น เพราะมีปัจจัยหลายอย่างต้องคำนวณ ตอนนี้มีตัวเลขผู้ติดเชื้อทั้งแสดงอาการและไม่แสดงอาการเท่าไรไม่ทราบ เพราะเราจะยึดตัวเลขผู้ป่วยที่ยืนยันและตัวเลขสะสม ส่วนกระบวนการคิดให้ทางนักระบาดวิทยาเป็นผู้ให้ข้อมูลดีกว่า แต่มันไม่ได้สรุปง่ายๆว่าเรามีป่วยแล้ว 1.2 หมื่นคน

ป่วยน้อยผ่อนปรนเฟส 3–4

เมื่อถามว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการหลายกลุ่มยังไม่ได้รับการผ่อนปรนออกมาเคลื่อนไหว เช่น สนามมวย ร้านนวดแผนไทย ศบค.มีข้อแนะนำอย่างไร นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า เป็นที่ทราบว่าทุกคนต้องหาเลี้ยงชีพ ศบค.คุยกันในรายละเอียดเรื่องนี้ทุกแง่ทุกมุม และแบ่งการผ่อนคลายเป็นระยะต่างๆ ผู้ยังไม่ได้รับการผ่อนคลายขณะนี้ ขอให้ปฏิบัติตามมาตรการให้ดี หากผู้ป่วยรายใหม่อยู่หลักเดียวเรื่อยๆ มีโอกาสได้รับการผ่อนคลายระยะที่ 3 และ 4 ขอย้ำว่า ระหว่างนี้ฝากช่วยคิดมาตรการและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่าจะไม่ติดโรค

สมช.ถกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เผยว่า วันที่ 21 พ.ค. เวลา 11.00 น. สมช.มีประชุมพิจารณา พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินตามที่ประกาศใช้ทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ขยายเวลาบังคับจะครบกำหนดวันที่ 31 พ.ค. และแถลงข่าวภายหลังการประชุม สมช.จะยึดสถานการณ์โควิด-19 ด้านสาธารณสุขเป็นสำคัญ ไม่ได้ใช้ผลโพลใดๆมาเป็นตัวตัดสิน สถานการณ์โควิด-19 ที่ดีขึ้น ณ วันนี้ มีผลจากมาตรการต่างๆเดือนที่แล้ว เป็นผลจากห้วงเวลาที่ผ่านมา ถ้าเราจะตัดสินใจทำอะไรเพื่อทำให้อนาคตดีขึ้น ต้องดูสถานการณ์ว่าดีหรือไม่ดีในวันนี้เป็นตัวตัดสิน รวมถึงการผ่อนปรนมาตรการระยะที่ 2 ต้องดูหลายๆอย่าง ที่สำคัญต้องถามจากสาธารณสุขเป็นหลักเพราะตนให้ความสำคัญ ถ้าต้องการเครื่องมือนี้ต่อไปก็โอเค หรือถ้าใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อทำได้ ก็โอเค จะเชิญตัวแทนจากสาธารณสุขและภาคเอกชนเข้าร่วม มติ สมช.ที่ได้จะนำเข้าที่ประชุม ศบค.ปกติจะมีทุกวันศุกร์ จากนั้นนำเข้าที่ประชุม ครม. หาก ครม.เห็นเป็นอย่างอื่นก็แล้วแต่

...

ข้าราชการบำนาญไม่ได้เยียวยา

ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยในการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ของกระทรวงเกษตรฯเกี่ยวกับเงินเยียวยาเกษตรกร 5,000 บาท 3 เดือน ว่า มีผู้สอบถามมาว่าข้าราชการบำนาญไปทำเกษตรจะได้รับเงินเยียวยาหรือไม่ ตนไปสอบถามหน่วยที่รับผิดชอบในระบบประกันสังคมและบำเหน็จบำนาญ มีระบบรองรับดูแลช่วยเหลือส่วนนี้ จะไม่ได้รับเงินเยียวยาเกษตรกร ขอให้ท่านยื่นอุทธรณ์เพราะมีประเด็นในส่วนข้าราชการประจำและเป็นเกษตรกร ขึ้นทะเบียนเกษตรกรและทำการเกษตรจริงได้รับเงินเยียวยา ฉะนั้นมีคำถามว่า แล้วข้าราชการบำนาญที่ทำการเกษตรจริงทำไมไม่ได้ ท่านที่ประสงค์ทวงสิทธิ์ขอให้ยื่นอุทธรณ์ได้

เยียวยาเกษตรกรแล้ว 3 ล้านราย

นายอลงกรณ์กล่าวต่อว่า โครงการการเยียวยาเกษตรกร 10 ล้านราย ภายใต้วงเงิน 150,000 ล้านบาท ที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอและ ครม.เห็นชอบเมื่อวันที่ 28 เม.ย. มีความร้อนใจบางส่วนที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้วจะได้เงินเมื่อใด ต้องเรียนว่า กระทรวงเกษตรฯ แยกเกษตรกรเป็น 3 กลุ่ม กลุ่ม 1 ที่ลงทะเบียนไว้แล้วในฤดูกาลผลิต 2562/63 ส่วนนี้ทั้ง 7 กลุ่มไม่ว่าด้านพืช ประมง ปศุสัตว์ หม่อนไหม ยางพารา ยาสูบ และไร่อ้อย รัฐบาลมีฐานข้อมูลเดิมอยู่แล้วไม่ต้องมาขึ้นทะเบียนใหม่ และส่งข้อมูลไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบไม่ให้ซ้ำซ้อนโครงการเราไม่ทิ้งกัน ระบบบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และผู้ประกันตนมาตรา 33 ของ ระบบประกันสังคม ได้โอนจ่ายถึง 17.00 น. วันที่ 19 พ.ค. แล้ว 3 ล้านราย ในเวลาเพียง 4 วัน ส่วนนี้จ่ายไปเกือบ 15,000 ล้านบาทแล้ว จากทะเบียนทั้งหมด 8.3 ล้านราย ตรวจสอบความซ้ำซ้อนแล้วผ่าน 6.77 ล้านราย ธ.ก.ส. ยืนยันว่า จะจ่ายได้หมดภายในวันที่ 25 พ.ค.ของชุดแรก

...

เกษตรกรทุกกลุ่มได้เยียวยาแน่

“ส่วนกลุ่มที่สองที่ไปปรับปรุงทะเบียน ไปขึ้นทะเบียนใหม่ให้ถูกต้องตามมติ ครม. และปิดขึ้นทะเบียนไปวันที่ 15 พ.ค. ส่วนนี้มี 1.57 ล้านราย ธ.ก.ส.ยืนยันว่า เมื่อตรวจความซ้ำซ้อน มีการโอนฐานข้อมูลของบัญชีธนาคารหากไม่มีบัญชีของ ธ.ก.ส.ให้แจ้งบัญชีธนาคารอื่นเข้ามาผ่าน http://www.เยียวยาเกษตรกร.com  ธ.ก.ส.จะโอนจ่ายเงินให้ภายในวันที่ 31 พ.ค. ฉะนั้นทั้ง 2 กลุ่มจะจ่ายตามกำหนดเวลา ส่วนกลุ่มที่ 3 ให้ขึ้นทะเบียนไว้แม้ว่ายังไม่มีการเพาะปลูก เนื่องจากฤดูกาลฝนฟ้ายังไม่เหมาะสม ครม.ผ่อนปรนให้ขึ้นทะเบียนภายในวันที่ 15 พ.ค. เมื่อปลูกพืชแล้วหลังจากนั้น 15 วันให้มาแจ้งเพื่อการตรวจสอบ ชุดนี้ให้โอกาสเกษตรกร ถึงเดือน ก.ค. การโอนจ่ายเงินทั้งหมดในกลุ่มนี้ อยู่ระหว่างวันที่ 27-31 ก.ค. ฉะนั้นทุกกลุ่มได้รับเงินเยียวยาแน่นอน เพียงแต่เป็นช่วงเวลาที่ต่างกัน” นายอลงกรณ์กล่าว

ร้องธนาคารให้รอทำเอทีเอ็ม

นอกจากนี้ มีเกษตรกรแจ้งมาว่า ถูกธนาคารบังคับให้ทำบัตรเอทีเอ็ม และต้องรอคิวทำเอทีเอ็มถึงเดือนหน้า จะส่งเรื่องให้ธนาคารที่เกี่ยวข้องพิจารณา เรื่องของการเยียวยาภายใต้ข้อจำกัดของเวลาและดำเนินการเป็นครั้งแรกจริงๆ จะทำให้ดีที่สุด ข้อผิดพลาดบกพร่องมีแน่นอน จะบอกว่าไม่มีเลยคงไม่ได้ เพราะคนเป็น 10 ล้านราย กระจายอยู่ทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ เราต้องทำภายใต้เวลาที่สั้นมากตามที่ ครม.กำหนดไว้ แต่ที่ต้องทำเร็วเพื่อให้เกษตรกรได้รับเงินเร็วที่สุด ต้องขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่ให้ความสำคัญ เราจะก้าวผ่านวิกฤติโควิดไปด้วยกัน

ตีมึนเยียวยาข้าราชการประจำ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในจำนวนของกลุ่มที่ 1 ที่ผ่านมาตรวจความซ้ำซ้อนแล้ว มีผู้ผ่านเกณฑ์ 6.77 ล้านราย ปรากฏว่า เป็นข้าราชการประจำที่ทำการเกษตรเป็นอาชีพที่ 2 จำนวน 91,426 ราย เดิมกระทรวงเกษตรฯ แจ้งว่าจะยังไม่ตัดสิทธิ์คนกลุ่มนี้และจะเสนอให้ ครม.ตัดสินใจว่าจะจ่ายเงินให้หรือไม่ เพราะในมติ ครม.วันที่ตกลงจ่ายเงินเยียวยาให้เกษตรกร ไม่ได้เขียนระบุห้ามไว้ อย่างไรก็ตาม การประชุม ครม.ล่าสุด วันที่ 19 พ.ค. กระทรวงเกษตรฯไม่ได้เสนอเรื่องนี้ให้ ครม.พิจารณา ขณะที่การแถลงข่าวของนายอลงกรณ์วันที่ 20 พ.ค.ระบุว่า ข้าราชการประจำที่ทำการเกษตรเป็นกลุ่มเกษตรกรกลุ่มแรกในจำนวน 6.77 ล้านรายที่จะได้รับโอนเงินภายในสิ้นเดือน พ.ค. ส่วนข้าราชการบำนาญที่ทำการเกษตรและถูกตัดสิทธิ์ นายอลงกรณ์แนะให้อุทธรณ์เพราะมีมติ ครม.วันที่ 28 เม.ย.2562 เขียนห้ามไว้มีจำนวน 84,471 ราย นอกจากนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) รายงานเพิ่มเติมว่า ล่าสุดถึงวันที่ 20 พ.ค. ธ.ก.ส.โอนเงินเยียวยา 5,000 บาทให้เกษตรกรแล้ว 3.33 ล้านราย วงเงิน 16,650 ล้านบาท

...

คลังรับลูกออมสินขอเบี้ยตรากตรำ

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า กรณีสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจธนาคารออมสิน ยื่นหนังสือต่อกระทรวงการคลังเพื่อขอความอนุเคราะห์พิจารณาจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษ (เบี้ยตรากตรำ) จำนวน 2 เท่าของเงินเดือน ให้แก่พนักงานและลูกจ้างธนาคารออมสิน ที่ตรากตรำทำงานหนักเพื่อรองรับมาตรการต่างๆที่กระทรวงการคลังออกมาเพื่อดูแลเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มอบหมายให้นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง พิจารณาเรื่องดังกล่าวอยู่

เยียวยา 5 พันใกล้จบแล้ว

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เผยว่า การจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาท ตามโครงการเราไม่ทิ้งกันในสัปดาห์นี้ จะจ่ายเงินครบ 15 ล้านคน ในวันที่ 21-22 พ.ค.กระทรวงการคลังจะจ่ายเงินเยียวยาให้ผู้ผ่านเกณฑ์อีก 700,000 คน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังเหลือการตรวจทบทวนสิทธิิ์อีก 240,000 คน แบ่งเป็น 80,000 คน กำลังตรวจสอบ แล้วเสร็จในสัปดาห์นี้ และอีก 100,000 คนมีปัญหาไม่เจอตัว เนื่องจากแจ้งที่อยู่ไม่ตรงกับที่อยู่อาศัยจริง ทำให้ผู้ทบทวนสิทธ์ิเดินทางไปหาไม่พบ ดังนั้น ให้กลุ่มนี้เดินทางไปแสดงตัวที่สาขาธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และยังมีอีก 60,000 คน ติดต่อไม่ได้ ดังนั้น กระทรวงการคลังประกาศให้เวลาจนถึงปลายเดือนนี้ หากยังตรวจสอบไม่ได้จะไม่ได้สิทธิ์ ภายในเดือน พ.ค.กระทรวงการคลังจะพยายามปิดการทบทวนสิทธิ์ เนื่องจากเดือน มิ.ย. เป็นการจ่ายเงินรอบที่ 3 เดือนที่ 3 ถือเป็นเดือนสุดท้าย ส่วนคนที่ไม่ได้ลงทะเบียนนั้นให้รอการช่วยเหลือในกลุ่มอื่นๆที่รัฐบาลจะออกมา มองว่าคนทั้ง 66 ล้านคนที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 ควรจะได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐทุกคน แต่การช่วยเหลืออาจไม่เท่ากัน เพราะผลกระทบเกิดขึ้นต่างกัน

เยียวยาคนพิการ 2 ล้านคน

นางสาววิลาวรรณ พยาน้อย รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง เผยว่า ตามที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบหลายมาตรการ และคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ มีมติให้ช่วยเหลือคนพิการที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คนละ 1,000 บาท 1 ครั้ง เป็นคนพิการที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการ และลงทะเบียนขอรับเงินเบี้ยความพิการต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมบัญชีกลางทำหน้าที่จ่ายเงินให้แก่ผู้มีสิทธิ ผ่านระบบบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม (e-Social Welfare) จำนวนทั้งสิ้น 1.99 ล้านราย แบ่งเป็นผู้มีสิทธิที่มีข้อมูลจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 1.89 ล้านราย กรุงเทพมหานคร 87,359 ราย และเมืองพัทยา 1,286 ราย

รับ 1 พันเข้าบัญชี 29 พ.ค.

โฆษกกรมบัญชีกลางเผยต่อว่า ขณะนี้กรมบัญชีกลางเตรียมความพร้อมสำหรับการจ่ายเงินช่วยเหลือดังกล่าว ได้รับความร่วมมือจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ส่งข้อมูลผู้มีสิทธินำมาตรวจสอบข้อมูลการจ่ายเงิน และข้อมูลบุคคลที่มีชีวิตจากกรมการปกครอง ณ วันที่ 31 มี.ค.2563 เมื่อได้รับการยืนยันข้อมูลจากกรมการปกครองแล้ว กรมบัญชีกลางสามารถจ่ายเงินให้ผู้มีสิทธิวันที่ 29 พ.ค. โดยโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้มีสิทธิ หรือบัญชีผู้ได้รับมอบอำนาจจากผู้มีสิทธิ กรณีผู้มีสิทธิรับเงินสดติดต่อรับที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำหรับผู้มีสิทธิที่ยังไม่ได้รับเงินวันที่ 29 พ.ค. เป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับเบี้ยความพิการในฐานข้อมูลกรมบัญชีกลาง รวมถึงผู้ที่ไม่สามารถโอนเงินเข้าบัญชีได้ เนื่องจากข้อมูลคลาดเคลื่อน สามารถสอบถามได้ที่กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เพื่อดำเนินการขอรับเงินต่อไป

ให้ ศบค.–สธ.เคาะโรงเรียนเปิด

กรณีคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษา วุฒิสภา เสนอให้เปิดเรียนในโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ตนเสนอเรื่องดังกล่าวให้ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เป็นผู้พิจารณาสถานการณ์แต่ละพื้นที่ว่าสามารถเปิดโรงเรียนได้หรือไม่แล้ว อีกทั้ง ศธ.กำลังศึกษากลุ่มโรงเรียนต่างๆว่าโรงเรียนไหนมีความพร้อม หรือศักยภาพการบริหารจัดการในสถานการณ์โควิด-19 เพราะการเปิดโรงเรียนจะต้องมีความระมัดระวังอย่างมาก เนื่องจากโรงเรียนอยู่ในกลุ่มโซนสีแดง อย่างไรก็ตาม ยังยืนยันว่า ขณะนี้กำหนดการเปิดภาคเรียนที่ 1/2563 ยังคงเป็นวันที่ 1 ก.ค. ตามเดิม ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ปัจจุบันยังไม่ปกติ เราทุกคนยังต้องใส่หน้ากากอนามัย และปฏิบัติตามมาตรการของ สธ.อยู่

ประชุม สพฐ.แก้ทีวีการศึกษา

นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวภายหลังการประชุมมอบนโยบายผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ให้ผู้ อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) จำนวน 225 เขต เรื่องการจัดการศึกษาระบบการศึกษาทางไกลผ่านโทรทัศน์ดิจิทัลและระบบออนไลน์ว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เริ่มทดสอบระบบการจัดการเรียนการสอนผ่านทีวีและออนไลน์แล้วตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค.-30 มิ.ย. ดังนั้นขอให้เขตพื้นที่ทุกแห่งลงพื้นที่ติดตามและสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้ปกครองและนักเรียนถึงการเรียนระบบนี้ด้วย โดยต้องลงไปสำรวจเด็กเป็นราย บุคคลและรายโรงเรียนว่าปัญหาจากการทดสอบระบบเหล่านี้มีอะไรบ้าง เพื่อนำไปสู่การแก้ไขให้สมบูรณ์ต่อไป

แก้ปัญหาแจกกล่อง 2 ล้านเครื่อง

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวอีกว่า จากการทดสอบระบบการเรียนผ่านทีวีช่วง 3 วัน ปัญหาส่วนใหญ่คือบ้านนักเรียนไม่สามารถปรับจูนช่องทีวีให้รับสื่อการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) ของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ได้ การแก้ปัญหาจุดนี้ สพฐ.หารือกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) จัดหาและแจกกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัล 2 ล้านกล่องให้บ้านนักเรียนที่ไม่มีกล่องรับสัญญาณ ส่วนเนื้อหาการเรียนการสอนที่มีข้อผิดพลาดนั้น ประสานมูลนิธิฯเพื่อปรับแก้ไขให้หลักสูตรเชื่อมต่อกันมากขึ้น นอกจากนี้ สพฐ.จะจัดครูภาษาอังกฤษจากโครงการศูนย์อบรมครูภาษาอังกฤษระดับภูมิภาค (Regional English Training Centres) หรือที่รู้จักกันในนามว่า “โครงการ Bootcamp” เข้ามาช่วยเสริมครูผู้สอนจากมูลนิธิฯด้วย

พื้นที่แพร่ระบาดเรียนออนไลน์

นายอำนาจกล่าวต่อไปว่า สำหรับการทดสอบระบบการเรียนผ่านทีวีและระบบออนไลน์ สพฐ.จะประเมินระบบ 3 รอบ แบ่งเป็นรอบการประเมินวันที่ 30 พ.ค. รอบกลางเดือน มิ.ย. และรอบวันที่ 30 มิ.ย. เพื่อดูความพร้อมทั้งหมด ตนเชื่อมั่นว่า หากเปิดเรียนวันที่ 1 ก.ค.สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่พ้นวิกฤติ โรงเรียนในกลุ่มจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อยังตัวเลขสูงอยู่ เราจะมีความพร้อมสามารถจัดการเรียนการสอนผ่านทีวีและระบบออนไลน์ได้ ดังนั้น ขอย้ำให้สังคมรับทราบเป็นแนวทางเดียวกันว่า เปิดภาคเรียนวันที่ 1 ก.ค. หากไม่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โรงเรียนจะสามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามปกติ นักเรียนจะได้เรียนกับครูในห้องเรียนแน่นอน การทดสอบระบบต่างๆเหล่านี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือโรคระบาดหากยังไม่พ้นวิกฤติเท่านั้น อีกทั้งเป็นการเตรียมปูพื้นฐานให้เด็กก่อนเปิดภาคเรียนใหม่ จะไม่มีการประเมินหรือวัดผลนักเรียนใดๆทั้งสิ้น

ร้องสิทธิ์ให้หญิงขายบริการ

น.ส.ทันตา เลาวิลาวัณยกุล ผู้ประสานงานมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ทำงานด้านสิทธิหญิงขายบริการประเทศไทยเผยว่า ขณะนี้พนักงานบริการทั่วประเทศได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก จากการที่เป็นคน กลุ่มแรกๆที่ต้องตกงาน ทั้งที่มีรายได้แค่วันต่อวัน ขณะนี้มีแนวโน้มว่าจะได้กลับมาทำงานเป็นกลุ่ม สุดท้าย ปัญหาคือ ส่วนน้อยที่ทำประกันสังคมต้องเข้ามาใช้สิทธิ์ขอรับเงินเยียวยา 5 พันบาทจากรัฐบาล พบว่ามีคนที่ได้รับเพียงครึ่งเดียว นอกนั้นตกสำรวจ ไม่เพียงแค่เฉพาะพนักงานบริการไทย ยังมีกลุ่ม พนักงานบริการที่เป็นชาติพันธุ์ไม่มีบัตรประชาชน และที่มาจากประเทศเพื่อบ้านยังตกค้างอยู่ในประเทศอีกจำนวนมากที่ประสบปัญหาหนักยิ่งกว่า เพราะนอกจากไม่ได้รับสิทธิ์จากรัฐ ยังไม่สามารถทำงานแบบคนไทย และยังไม่สามารถเดินทางกลับประเทศได้ด้วย

เดือดร้อนทั่วประเทศนับแสน

“เท่าที่พบตอนนี้แย่สุดคือ ไม่มีเงินส่งเสีย ทางบ้าน จ่ายหนี้สิน ไม่มีที่อยู่ ไม่มีข้าวกิน ไม่มีเงินกลับบ้าน ที่สำคัญส่วนใหญ่ล้วนมีลูกที่ต้องดูแล หลายคนไม่มีเงินซื้อนมให้ลูก ขอความช่วยเหลือมาก็มีทางมูลนิธิพยายามส่งเงินและข้าวสารไปช่วยเหลือ ทั้งกลุ่มที่เดือดร้อนที่ จ.ภูเก็ต ชลบุรี กระบี่ มหาชัย มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ส่วนที่ยังอยู่กันได้ทราบว่าใช้วิธีการสร้างเครือข่ายช่วยเหลือกันเอง เช่น ใครได้เงินเยียวยามา 5 พัน ก็เอาเงินมาซื้อข้าวสารมาแจกกัน คนที่ไม่มีที่อยู่ชักชวนให้ย้ายมาอยู่รวมกัน ขายของออนไลน์ มูลนิธิฯคาดการณ์ว่า ความเดือดร้อนคนอาชีพนี้หาก รวมถึงภาระที่แต่ละคนต้องดูแลครอบครัวด้วยน่าจะมีนับแสนชีวิต ช่วงต้นเดือน พ.ค.เอ็มพาวเวอร์เดินทางไปที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ยื่นหนังสือเรียกร้องให้ช่วยเหลือผู้ทำอาชีพพนักงานบริการที่ยังตกหล่นไม่ได้เงินเยียวยา พม.แจ้งว่าจะนำไปพิจารณาเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ขณะนี้ยังเงียบอยู่ ขอเรียกร้องไปยังภาครัฐให้ช่วยเหลือพนักงานบริการที่ยังตกสำรวจโดยด่วน” น.ส.ทันตากล่าว

ยธ.จ่อให้ญาติเยี่ยมนักโทษ 1 มิ.ย.

ที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เผยว่า วันนี้มีประชุมระดับผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม ที่ประชุมหารือหลายประเด็น ที่น่าสนใจ อาทิ เตรียมความพร้อมการเยี่ยมญาติผู้ต้องขังวันที่ 1 มิ.ย. หลังรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการต่างๆจากสถานการณ์โควิด-19 ระบาด แต่กรมราชทัณฑ์ต้องเตรียมความพร้อมรอบคอบ อิงประกาศของแต่ละจังหวัด การเยี่ยมผู้ต้องขังต้องจัดพื้นที่ให้เหมาะสม เว้นระยะห่างทางสังคม การเข้าพื้นที่ต้องจำกัดคนต่อวัน ห้ามให้เชื้อโควิด-19 หลุดเข้าเรือนจำเด็ดขาด นอกจากนี้สั่งการให้สำนักงาน ป.ป.ส. ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่ เกี่ยวข้อง ศึกษากรณีการนำพืชกระท่อมมาแปรรูป สำรวจพื้นที่ที่เหมาะสมปลูกพืชกระท่อม รวมถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจหากเกษตรกรหันไปปลูกพืชกระท่อมแทนพืชอื่นๆ เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ และส่งออก

กต.ตั้งตู้บัวแก้วปันสุขช่วยชุมชน

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงการต่างประเทศ ว่า ในภาวะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ ส่งผลกระทบต่อพี่น้องชาวไทย ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค.เป็นต้นไป กระทรวงการต่างประเทศโดยกลุ่มผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของกระทรวง ร่วมมือร่วมใจตั้งตู้ “บัวแก้วปันสุข” บริเวณรั้วกระทรวงการต่างประเทศด้านถนนพระรามที่ 6 เพื่อช่วยเหลือชุมชนและแบ่งเบาภาระพี่น้องประชาชนรอบพื้นที่กระทรวง ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เป็นการแบ่งปันอาหารแห้ง สิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นในการดำรงชีวิต ตู้ “บัวแก้วปันสุข” จะเปิดให้บริการทุกวันรวมทั้งวันหยุดราชการ ผู้ที่สนใจแบ่งปันความสุขกับพี่น้องชุมชนรอบกระทรวงการต่างประเทศ สามารถนำสิ่งของอุปโภคบริโภค เช่น อาหารแห้ง ของแห้ง เครื่องกระป๋อง น้ำดื่ม เครื่องใช้จำเป็น ยาสามัญประจำบ้าน หน้ากากผ้า (บรรจุซองพลาสติก) เป็นต้น มาบรรจุตู้ “บัวแก้วปันสุข” ด้วยตนเองตลอดเวลา ขอหลีกเลี่ยงการปันสุขประเภทอาหารปรุงสำเร็จ เนื้อสัตว์ ผักสดและเงินสด กระทรวงการต่างประเทศติดตั้งเจลแอลกอฮอล์บริเวณตู้เพื่อให้ผู้มาใช้สามารถใช้เจลล้างมือก่อนและหลังเปิดปิดตู้ด้วย

คาดโทษโรงเรียนติดโควิด

พ.ต.ท.ม.ล.กิติบดี ประวิตร ผวจ.กระบี่ กล่าวว่า พื้นที่ จ.กระบี่ มีโรงเรียนสอนศาสนา 26 แห่ง จัดการเรียนการสอนผ่านระบบการเรียนทางไกลหรือออนไลน์เพียงบางส่วน นอกจากนี้ เตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดเรียนในสถานศึกษาตามปกติ ภายใต้การบริหารจัดการที่มีความปลอดภัย คาดว่าจะเปิดการเรียนการสอนในเดือน ก.ค. ทั้งนี้โรงเรียนประจำบางแห่งมีนักเรียน 1,500-2,000 คน นับว่ามีความเสี่ยงสูงมากที่จะเกิดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ต้องเพิ่มความเข้มในมาตรการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ หากพบว่าโรงเรียนใดมีนักเรียนติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ผู้อำนวยการรวมถึงผู้บริหารโรงเรียนจะต้องรับผิดชอบ

ศปม.ตรวจเยี่ยมด่านอรัญฯ

ส่วนมาตรการสกัดกั้นการแพร่ระบาด ที่ด่าน ตม.อรัญประเทศ จุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึกจ.สระแก้ว พล.อ.ชูชาติ บัวขาว รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด (รอง ผบ.สส.)ฐานะผู้ช่วยหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ผช.หน.ศปม.) พร้อมคณะตรวจเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ป้องกันและคัดกรองบุคคล ที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศอรัญประเทศ มีนายศิริศักดิ์ ศิริมังคะลา ปลัดจังหวัดสระแก้ว ให้การต้อนรับ พร้อมนำตรวจการทำงานของเจ้าหน้าที่ ตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข พล.อ.ชูชาติเผยว่า ลงพื้นที่ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ รวมถึงรับฟังปัญหาต่างๆหลังเริ่มมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 พร้อมกำชับห้ามการ์ดตกอย่างเด็ดขาด

วาดภาพยมทูตใส่แมสก์

ที่วัดป่าเรไร ต.บ้านสวน อ.เมืองสุโขทัย ช่างวาดภาพเกี่ยวกับศีล 5 ลงบนผนังอาคารชั้นล่างใต้ถุนศาลาการเปรียญ พบมีภาพยมทูตสวมใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 สอบถามพระครูสมุห์ สิงหา (วุฑฺฒญาโณ) เจ้าอาวาส เผยว่า จ้างช่างมาวาดภาพเพื่อให้ญาติโยมรักษาศีล 5 หากใครผิดศีลจะต้องตกนรก ภายในพบมียมทูตสวมใส่หน้ากากอนามัยและใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ เพื่อแฝงคติธรรมให้ชาวบ้านรู้จักป้องกันตัวเอง มีสติใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท สวมใส่หน้ากากทุกครั้งที่ออกจากบ้าน เพราะโรคดังกล่าวอันตรายติดต่อกันได้ง่าย ตั้งแต่เริ่มวาดภาพเหล่านี้ เมื่อชาวบ้านทุกคนเข้ามาในวัด จะพร้อมใจกันสวมใส่หน้ากากอนามัยพร้อมเพรียงกัน

สตูลราคาอาหารทะเลตก

ขณะที่ผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้อาหารทะเลหลายชนิดใน จ.สตูล ราคาตกต่ำ นายโสภณ อ่อนคง ประมงจังหวัดสตูล เผยว่า สาเหตุที่อาหารทะเลราคาตกต่ำมาจากการท่องเที่ยวซบเซา ร้านอาหารต่างๆพากันปิดตัว ส่วนอาหารทะเลเคยส่งขายประเทศมาเลเซียเดือนละ 4 แสนกิโลกรัม ตอนนี้เหลือเพียงเดือนละ 1.5 แสนกิโลกรัม ขณะที่ชาวประมงออกจับปลาปริมาณเท่าเดิม ส่งผลให้อาหารทะเลเริ่มล้นตลาด ด้านนายมานิตย์ กวีรัตน์ ผู้ประกอบการแพปลา กล่าวว่า ราคาอาหารทะเลสดลดลงเกือบทุกชนิด เพราะสินค้าส่งไปยังตลาดต่างประเทศได้น้อย ส่งผลให้ราคาตกต่ำ ผู้ประกอบอาชีพประมงได้รับความเดือดร้อน แต่ชาวบ้านทั่วไปซื้อปลาในราคาถูกลง

ขนยาบ้าช่วงเคอร์ฟิว

ส่วนการจับกุมผู้ฝ่าฝืนเคอร์ฟิวในจังหวัดต่างๆ จ.ขอนแก่น พ.ต.อ.ขจรฤทธิ์ วงษ์ราช ผกก.สภ.กระนวน แถลงข่าวจับกุมนายพรชัย แก้วคำสอน อายุ 38 ปี และนายนัฐภู มาทน อายุ 37 ปี พร้อมของกลางยาบ้า 8,003 เม็ด รถยนต์ฟอร์ด โฟกัส สีขาว ทะเบียน ขม 4500 ขอนแก่น สืบเนื่องจากตำรวจตั้งด่านตรวจบนถนนกระนวน-น้ำพอง อ.กระนวน ช่วงกลางดึกวันที่ 19 พ.ค. พบผู้ต้องหาขับรถผ่านมาลักษณะมีพิรุธ เรียกตรวจค้นพบยาบ้าซุกซ่อนในรถคุมตัวดำเนินคดี อีกราย พ.ต.ต.ธราเทพ จันฐดิษฐ์ สว.(สอบสวน) สภ.เมืองสมุทรสงคราม ตรวจสอบเหตุนายธานี คล้ายศรี อายุ 54 ปี ขับรถกระบะโตโยต้า สีน้ำเงิน ทะเบียน บย 9744 ราชบุรี พุ่งชนท้ายรถบรรทุก 10 ล้อ ยี่ห้อฮีโน่ ทะเบียน 71-3518 สงขลา ขณะจอดตรวจเอกสารบริเวณด่านตรวจเคอร์ฟิว สามแยกที่พักสายตรวจตลาดปลา ต.แหลมใหญ่ ตรวจพบปริมาณแอลกอฮอล์ 213 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ แจ้งข้อหาเมาแล้วขับและฝ่าฝืนเคอร์ฟิว