สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านครับ สัปดาห์นี้มีเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับคุณยายไปเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ได้ขอให้พนักงานเวรเปลประจำโรงพยาบาล นำบัตรเอทีเอ็มไปกดเงินให้ ปรากฏว่า เงินที่ลูกสาวเพิ่งโอนมาให้หายไป 5,000 บาท สร้างความทุกข์ร้อนใจให้แก่คุณยายอย่างมาก กินไม่ได้นอนไม่หลับหลายวัน คุณยายสงสัยว่าพนักงานเวรแปลประจำโรงพยาบาลดังกล่าว จะเป็นผู้กดเอาเงิน จำนวน 5,000 บาทไป
ต่อมาเมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ปรากฏว่า เกิดความผิดพลาดในระบบของธนาคาร เงินจำนวนดังกล่าวไม่ได้หายไป ทำให้พนักงานเวรเปลคนดังกล่าวหลุดพ้นจากมลทิน โดยคุณยายได้มีการขอโทษพนักงานเวรเปลและครอบครัวของพนักงานเวรเปลคนดังกล่าว ทั้งสองฝ่ายต่างไม่ติดใจเอาความกัน
ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับข่าวนี้ คือ หากคุณยายไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน โดยสงสัยว่าพนักงานเวรเปลคนดังกล่าวเป็นผู้ลักทรัพย์ไป แล้วต่อมาพบว่าเป็นเพียงการเข้าใจผิดกัน พนักงานสอบสวนจะดำเนินการอย่างไร และคุณยายจะมีความผิดในข้อหาแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานหรือไม่
กรณีที่คุณยายมีเหตุผลอันควรเชื่อโดยสุจริตว่า พนักงานเวรเปลเป็นผู้กดเงินไปนั้น ไม่เป็นความผิดข้อหาแจ้งความเท็จ ประกอบกับคุณยายไม่มีเจตนาจะแจ้งความเท็จ หากแต่ให้การตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัดว่า เป็นเพียงการเข้าใจผิดกัน พนักงานสอบสวนก็จะต้องทำความเห็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาเสนอพนักงานอัยการ เพื่อให้พนักงานอัยการมีความเห็นต่อไป
เทียบเคียง 1050/2514 ศาลฎีกาเห็นว่า ความผิดฐานแจ้งความเท็จนั้น จำเลยต้องรู้อยู่ว่า เป็นความเท็จแล้วไปแจ้งต่อพนักงาน ถ้าจำเลยเชื่อโดยมีเหตุผลอันควรเชื่อว่า เป็นความจริงเช่นนั้น การแจ้งนั้นก็หาเป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จไม่
...
แต่หากผู้แจ้ง “มีเจตนา” แจ้งความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญา จะมีความผิดในข้อหาแจ้งความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวน มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172 ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ การแจ้งความเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา หากกระทำ เพื่อกลั่นแกล้งให้ท่านถูกบังคับตามวิธีการ เพื่อความปลอดภัย หรือถูกกลั่นแกล้งให้ท่านต้องรับโทษในทางอาญาหรือต้องรับโทษหนักขึ้น
มาตรา 174 ถ้าการแจ้งข้อความตามมาตรา 172 หรือมาตรา 173 เป็นการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดต้องถูกบังคับตามวิธีการเพื่อความปลอดภัย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกหมื่นบาท
ถ้าการแจ้งตามความในวรรคแรก เป็นการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดต้องรับโทษหรือรับโทษหนักขึ้น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
สุดท้ายนี้ การใช้สิทธิตามกฎหมายเป็นหนทางที่ดีที่สุด และถ้าเป็นไปได้ก็ควรที่จะตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ครบถ้วน รอบด้าน ก่อนที่จะนำหลักฐานไปแจ้งความร้องทุกข์ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียกับผู้อื่นครับ
สำหรับท่านที่มีคำถามข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายและต้องการความช่วยเหลือ หรือมีเรื่องราวดีๆ อยากแบ่งปันประสบการณ์ เมลมาหาผมได้ที่ “คุยกับคนดัง” talktoceleb@trendvg3.com ได้เลยครับ
Facebook: ทนายเจมส์ LK
Instagram: james.lk